เข้าร้านเสริมสวยระวังถูกแทง
เป็นข่าวพาดหัวตัวใหญ่ ภัยสำหรับผู้เข้าไปใช้บริการในร้านเสริมสวย หนังสือพิมพ์ลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงไปแล้ว แต่ผมจะนำเสนอในเชิงวิเคราะห์ และแนะแนวทางความปลอดภัย
ทฤษฎีอาชญากรรมตามที่ได้ร่ำเรียนมา ฆาตรกรรมย่อมทิ้งร่องรอยเสมอ ผู้สืบสวนต้องค้นหาให้พบ ทฤษฎีนี้ยังคงใช้ได้ตลอดกาล พิสูจน์ให้เห็นจากผลงานของตำรวจนครบาล ที่สามารถทำการสืบสวนจับกุมคนร้ายฆ่าคนในร้านเสริมสวยย่านพระโขนงนี้ได้สำเร็จ
กรณีคนร้ายใช้อาวุธมีดเข้าไปไล่แทงคนในร้านเสริมสวย เมย์แฮร์ดีไซน์ แทงผู้คนในร้านอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่กำลังรับบริการเสริมสวย ช่างเสริมสวย แม้กระทั่งเด็กเล็กแดงที่อยู่ในร้าน ถึงแก่ความตายไป ๑ บาดเจ็บสาหัส ๒ เขาทำได้กับคนที่ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุ ถือเป็นเรื่องอุกอาจสะเทือนขวัญ เป็นที่หวั่นหวาดของผู้ทำธุระกรรมและใช้บริการเสริมสวย โชคดีที่ตำรวจจับกุมตัวคนร้ายได้
เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ตำรวจใช้เวลาสืบสวนเพียงแค่ ๗ วันก็สามารถจับกุมคนร้ายได้ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข่าว ชาวบ้านสบายใจที่คนโรคประสาทถูกจับ เข้าร้านเสริมสวยได้อย่างไม่ต้องระแวง ที่ผมนำมาเสนออีกครั้ง เป็นมุมมองตามหลักทฤษฎีอาชญากรรม และมองในแง่ของการสืบสวน ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด และสำหรับท่านผู้อ่าน ท่านเองสามารถลับสมองเพื่อเป็นนักสืบได้ และท่านจะเห็นจุดอ่อนในด้านความปลอดภัย สามารถนำไปแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายทำนองนี้อีก
ประเด็นที่ ๑ การกระทำของคนร้ายลักษณะเป็นคนโรคจิต เข้าไปในร้านเสริมสวยผู้หญิง แค่นี้ก็น่าจะเอะใจ เดินหดุ่ยๆเข้าไปโดยไม่รู้จักใคร เจ้าของร้านเขาถามแล้วว่า คุณเข้ามาทำไม ร้านนี้เขาทำแต่ผมผู้หญิง คนร้ายก็ตอบแบบฉลาดว่า มารอแฟนซึ่งจะมาทำผมที่ร้านนี้ ( ถ้าท่านเจอคนพูดแบบนี้ ท่านจะไม่กล้าไล่หรือเชิญให้ออกไป แต่กลับจะดีใจที่จะได้ลูกค้า ) จุดอ่อนในด้านป้องกันก็คือ ไม่มีผู้ชายอยู่ในร้านเลย ทำให้คนร้ายกล้าลงมือ ประเด็นนี้ตำรวจนครบาลเคยแนะนำแล้ว ตอนที่เกิดเหตุชิงทรัพย์ร้านเสริมสวย ให้ทางร้านติดกลอนประตูไฟฟ้าอัตโนมัติ การเปิดปิดประตูต้องกดรีโมท ผมเชื่อว่า หากประตูห้องร้านเสริมสวยที่เกิดเหตุ ติดกลอนประตูไฟฟ้า คนร้ายจะไม่กล้าไปก่อคดีแน่ๆ
ประเด็นที่ ๒ คนร้ายถูกจับได้ รับสารภาพว่าต้องการไปทวงหนี้จากผู้ตาย แต่ผู้ตายก็ตายไปแล้วพูดไม่ได้ แต่ฟังตามข้อเท็จจริง หากคนร้ายไปทวงหนี้ ก็น่าจะถามไถ่เอ่ยปากทวงกันก่อน แต่นี่โผล่เข้าไปโดยไม่มีใครรู้จัก เขาจึงได้ถามคนร้ายว่ามาหาใคร และบอกว่าไม่ได้บริการลูกค้าผู้ชาย เมื่อคนร้ายอ้างว่ารอแฟนจะมาเสริมสวย ทางร้านเขาจึงให้นั่งรอ รอสักพักก็พรวดพราดแทงดะ โดยไม่พูดไม่จา ทรัพย์สินของมีค่าก็ไม่เอาไป เรื่องนี้ทำให้ตำรวจปวดหัว คลำสาเหตุไม่ถูก เลยต้องฟันธงว่า โรคจิต
ประเด็นที่ ๓ ในแง่ของการสืบสวน ต้องชมทีมงานสืบสวนของตำรวจนครบาล ฝีมือการสืบสวนใช้ได้เลย เดี๋ยวนี้ตำรวจแห่งชาติพัฒนาระบบการสืบสวนไปเยอะ จะเห็นว่ามีการจัด เซฟตี้โซน หรือเขตปลอดภัย วิธีการก็คือต้องทำให้พื้นที่นั้นๆปลอดจากภัยจากโจรผู้ร้าย มีการจัดสายตรวจทั้งตำรวจและอาสาสมัครเดินตรวจ เฝ้าจุด และติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่ได้ผลก็คือโทรทัศน์วงจรปิด มันทำงานอย่างซื่อสัตย์ คนอาจจะแวบหรืออู้งานได้ โทรทัศน์วงจรปิดช่วยในคดีเรื่องนี้ครับ ถึงจะไม่ได้ช่วยให้จับกุมคนร้ายได้ ก็ช่วยให้การสืบสวนไปได้ถูกทาง เรียกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ทีเดียว
ประเด็นที่ ๔ เข้าทฤษฎีอาชญากรรม อาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอยเสมอ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สืบสวนจะค้นหาพบหรือไม่ ประเด็นที่ ๔ นี่แหละทำให้ตำรวจพิชิตคดีได้สำเร็จ ใครเป็นพระเอกในเรื่องนี้ผมไม่ทราบ อาจเป็นตำรวจยศตำแหน่งน้อยๆก็ได้ แต่ถ้าดูตามเอกสารบันทึกการจับกุม มีแต่ชื่อนายตำรวจระดับเจ้านายทั้งนั้น เรื่องนี้ไม่ว่ากัน ลูกน้องคนไหนทำงานดีเจ้านายเขาจำได้ (เหมือนกับคดีฆ่าสาวพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัลบางนา เหตุเกิดที่คอนโดนิรันดร์แกรนด์ ที่ผมเคยลงไปแล้ว คดีผ่านพ้นไปหกเดือนกว่า นึกว่ามืดมน แต่ด้วยความใส่ใจของตำรวจผู้น้อย ยศแค่นายดาบ แต่ความสนใจเกินยศตำแหน่ง จึงทำให้สามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ ผมให้ความดีความชอบตำรวจผู้นี้ไป ๒ ขั้น คลิกอ่านเรื่องเก่านะครับ)
สำหรับกรณีชายโรคจิตไล่แทงคนในร้านเสริมสวย ที่ผมว่าเข้ากับทฤษฎีอาชญากรรมก็คือ
(๑) ตำรวจพบกางเกงยีนส์เปื้อนเลือดถูกทิ้งไว้ที่ริมรั้ว พี.เค.อพาร์ทเมนต์ ห่างจากจุดที่เกิดเหตุประมาณ ๓๐๐ เมตร กางเกงก็เหมือนกางเกง จะรู้ได้ไงว่ามันเกี่ยวข้องกับคดี พวกนักสืบจะถูกฝึกฝนให้เป็นคนช่างสังเกตและขี้สงสัย เห็นอะไรสงสัยไปหมด มันอาจจะเป็นอย่างโน้น มันอาจจะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นเจ้ากางเกงตัวนี้ไม่อาจที่จะรอดพ้นการพินิจพิเคราะห์ของนักสืบไปได้ ก็เจ้ากล้องโทรทัศน์วงจรปิดมันบอกแล้วไง ว่าคนร้ายสวมกางเกงยีนส์ แล้วมันไปแทงผู้คนเขา มันก็น่าจะเปื้อนเลือดซี ตำรวจจึงไปเก็บเอามา พบว่ามีเลือดติดอยู่ สิ่งที่ต้องคิดต่อไปอีกก็คือ แล้วมันถูกนำมาทิ้งอยู่ตรงนี้ได้ไง ตำรวจใช้ความคิดและแหงนหน้ามองขึ้นไป เอ๊ะตรงนี้มันเป็นอพาร์ทเมนต์อาคารสูงนี่ มันน่าจะโยนทิ้งมาจากทางหน้าต่างหรือเปล่า หรือว่ามันขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีมาทางนี้ แล้วถอดเสื้อเปื้อนเลือดทิ้ง ว่าแล้วตำรวจก็ขึ้นไปชั้นบนของอพาร์ทเมนต์ดังกล่าว มองลงไปข้างล่างตรงตำแหน่งที่พบกางเกง อ้าว
.มีเสื้อวอมสีเขียว อยู่บนหลังคาบ้านชั้นเดียวซึ่งอยู่ต่ำกว่าอพาร์ทเมนต์ สีเสื้อลักษณะเดียวกับที่คนร้ายใส่ตามที่เห็นในกล้องโทรทัศน์วงจรปิดนี่ ไปเก็บมาดู พบรอยเลือดอีก มันต้องเป็นของคนร้ายแน่ๆ พอคลี่เสื้อวอมออกก็พบว่า ที่อกเสื้อมีรอยปักชื่อ ธนาชัย เสือมาก เท่านี้หนทางการสืบสวนก็เปิดช่อง พวกนักสืบถือว่าถูกหวยเบอร์ใหญ่ทีเดียว
(๒) พอได้ชื่อจากเสื้อวอม ก็ตรวจสอบรายชื่อผู้เช่าห้องจากผู้ดูแลอพาร์ทเมนต์ มันก็เจอ ตำแหน่งห้องพักอยู่ในตำแหน่งที่พบกางเกงและเสื้อ แสดงว่าคนร้ายโยนทิ้งมาจากทางหน้าต่าง ทำให้ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน เพราะทางอพาร์ทเมนต์ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนผู้เช่าไว้
(๓) จากคราบเลือดที่กางเกงยีนส์และเสื้อวอม สามารถตรวจหา ดี.เอ็น.เอ.ได้ และมีการตรวจพิสูจน์ยืนยันว่า เลือดที่พบจากกางเกงยีนส์และเสื้อวอม เป็นเลือดของผู้ตาย ( หลักฐานแน่นหนา ผู้สวมใส่กางเกงและเสื้อวอมนี้ เป็นคนร้ายแน่นอน)
การติดตามจับกุมตัวไม่ยาก ขอให้รู้ตัวว่าเป็นใคร แหวกแผ่นดินหาก็ทำกัน ในที่สุดก็จับได้ ก็คือนายธนาชัย เสือมาก ตามที่เป็นข่าว แต่สิ่งที่ผู้คนอยากรู้ ตำรวจสืบได้ยังไง
เห็นไหมครับ ทฤษฎีอาชญากรรม อาชญากรรมย่อมทิ้งร่องรอยเสมอ และผมเชื่อว่า คุณหนอนน้อยฯซึ่งเคยถามผมมาว่า ตำรวจเขามีวิธีการสืบสวนกันยังไง เรื่องนี้คงเป็นคำตอบได้อย่างดี แต่ละเรื่องแนวทางการสืบสวนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับร่องรอยพยานหลักฐานที่หาได้ครับ.