เพชฌฆาตเงียบ (อัลไซเมอร์)
เขียนเรื่องภัยที่อยู่ใกล้ตัวไปหลายเรื่อง แต่ลืมภัยที่อยู่กับตัวไปเสียสนิท ภัยที่อยู่ในตัวเราเป็นเรื่องสำคัญที่ประมาทไม่ได้ เป็นเพชฌฆาตเงียบ ที่เฝ้าติดตามเราอยู่ตลอดเวลา เราเผลอเมื่อไร มันโจมตีทันที
เพื่อนร่วมสถาบันสุดท้ายของผม (โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน) มีด้วยกัน ๗๕ ชีวิต ที่อยู่เรียนครบ ๔ ปีสำเร็จการศึกษา ติดยศร้อยตำรวจตรี เหลือเพียง ๗๒ คน นอกนั้นลาออกไปเรียนแพทย์บ้าง ไปเรียนต่อต่างประเทศบ้าง ถูกให้ออกไปบ้าง แต่พวกเราก็ยังถือว่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นเดียวกันทั้งสิ้น ปัจจุบันเหลือเพียง ๖๑ ชีวิต ปีหนึ่งจะนัดชุมนุมใหญ่กันที มากันไม่เคยครบ อย่างเก่งที่สุดแค่ ๔๐ คน จะได้ข่าวคนโน้นตายคนนี้ตายเป็นระยะๆ ผมทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง คอยกระจายข่าวสารให้กับเพื่อนๆ จึงได้รู้ถึงภัยสำคัญที่จะคร่าชีวิต อยู่ในตัวเรานี่เอง รู้ไว้บ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ
คุณวิชิต ครูภาษา เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจคนหนึ่ง ที่สร้างวีรกรรมให้เพื่อนคนอื่นๆจดจำอย่างไม่รู้ลืม ปกติวันเสาร์-อาทิตย์เป็นสิ่งที่พวกเราปรารถนาอยากจะออกจากโรงเรียน ไปพบเพื่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือพบแฟน แต่มีอยู่เสาร์-อาทิตย์หนึ่งพวกเราทุกคนถูกกัก มีวิชิตฯคนเดียวที่ลาไปก่อนหน้าหลายวัน เหตุที่ถูกกักเพราะว่าของหาย สอบถามไม่มีใครรับว่าเอาไป ผู้บังคับบัญชาจึงกักบริเวณเป็นการลงโทษ ครั้นเย็นวันอาทิตย์ครบกำหนดลา วิชิตฯกลับเข้ากองร้อย แปลกใจว่าทำไมเพื่อนอยู่กองร้อยกันเต็มไปหมด เพื่อนบอกว่า ถูกลงโทษเพราะมีของหายเกิดขึ้นระหว่างวิชิตฯไม่อยู่ เพื่อนคนนั้นยังได้บอกกับวิชิตฯว่า วิชิตฯโชคดีที่ลาไปเสียก่อน จึงไม่อยู่ในข่ายต้องสงสัย วิชิตฯสอบถามว่าของอะไรใครหาย พอเพื่อนบอกรายละเอียด วิชิตฯก็บอกว่า กูเอาไปเอง กะจะบอกเจ้าของก่อน แต่รีบ เลยบอกไม่ทัน พร้อมกับคืนสิ่งของนั้นให้กับเพื่อน แหละแล้วในกลางดึกสงัดคืนนั้น ระหว่างที่หลายสิบชีวิตนอนหลับใหล ก็มีเสียงดังผลัวะผละ ตุบตับ ดังขึ้นที่เตียงวิชิตฯนานประมาณ ๕ นาที แล้วทุกอย่างก็คืนกลับสู่สภาพเดิม ท่ามกลางความมืดและเงียบ ได้ยินเสียงวิชิตฯครวญครางด้วยความเจ็บปวด พร้อมกับได้ยินเสียงบ่นค่อยๆว่า ใครวะเนี่ย เช้าวันรุ่งขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น มีเพียงวิชิตฯคนเดียวที่มีรอยบวมเขียวช้ำตามตัวและใบหน้า ผู้บังคับบัญชาสอบถามสาเหตุ วิชิตฯรีบรายงานว่า ลื่นล้มในห้องน้ำครับ เรื่องก็จบไป
สิ่งนี่แหละเป็นวีรกรรมของวิชิตฯที่เพื่อนๆทุกคนยังกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อประมาณ ๓ ปีที่ผ่านมา ผมติดต่อกับวิชิตฯไม่ได้เลย เบอร์โทรศัพท์บ้านที่ติดต่อไป ผู้รับสายบอกว่าซื้อบ้านต่อจากผู้อื่น เจ้าของเก่าเป็นใครไม่รู้จัก ไม่มีคนชื่อวิชิตฯ เบอร์โทรศัพท์มือถือก็ติดต่อไม่ได้ ผมนึกว่าวิชิตฯคงตายไปแล้ว มาเมื่อช่วงสงกรานต์ปี ๕๑ นี้ ผมได้รับโทรศัพท์จากสุภาพสตรี รายงานตัวเองว่าชื่อ แหม่ม เป็นภรรยาของวิชิตฯ ผมรีบสอบถามถึงวิชิตฯเพราะอยากเจอตัวมานานแล้ว คุณแหม่มฯบอกว่า คุณวิชิตฯเพิ่งจะพูดได้ เป็นอัมพฤกษ์มา ๓ ปี นอกจากพูดไม่ได้แล้ว ยังเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เลย แน่นอนเขียนหนังสืออะไรก็ไม่ได้ คุณแหม่มฯเล่าให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งในตอนค่ำ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ วิชิตฯเข้านอนแต่หัวค่ำ ส่วนคุณแหม่มฯนั่งดูทีวี คุณแหม่มฯได้ยินเสียงวิชิตฯร้อง อ๊ะๆ ๆๆ ๆๆ ไม่เป็นภาษาคน ตั้งแต่วินาทีนั้น วิชิตฯพูดและเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เลย คุณแหม่มฯเล่าว่า วิชิตฯได้แต่นั่งนอนน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา นั่นแหละคือการร้องไห้ แม้จะร้องไห้ก็ยังไม่มีเสียงเลย คุณแหม่มฯแปลไม่ออกว่าวิชิตฯน้ำตาไหลเพราะเหตุใด คิดว่าคงเป็นเรื่องเศร้าตามธรรมดาของผู้เจ็บป่วย จึงพาไปบำบัดรักษา ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ทั้งหมอไทยและเทศ รวมทั้งกายภาพบำบัด ใช้เวลาอยู่ ๓ ปี วิชิตฯเริ่มสื่อความหมายให้คุณแหม่มฯภรรยาเข้าใจ ว่าไอ้ที่น้ำตาไหลนั้น ส่วนหนึ่งอยากจะให้คุณแหม่มฯส่งข่าวให้เพื่อนรู้ ใช้เวลานาน ๓ ปีกว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่อง
ผมได้คุยกับวิชิตฯว่าอาการเป็นยังไง ทำไมไม่รักษาเสียแต่ต้นๆ วิชิตฯเล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมีอาการร้ายแรงจนพูดไม่ได้เกิดขึ้น วิชิตฯมีอาการแขนขวาไม่มีแรง รู้สึกเมื่อยๆไปทั้งแขน เป็นอยู่ข้างเดียว เวลาวิชิตฯเดินไปไหนมาไหน มักจะแกว่งแขนขวาและสะบัดไปมา เพราะมันรู้สึกเมื่อยเปลี้ย วิชิตฯไม่ได้ไปพบหมอให้รักษาเป็นเรื่องเป็นราว ประมาณ ๖ เดือนต่อมาก็เกิดอาการพูดไม่ได้ เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เลย ส่งสัญญาณให้คนใกล้ชิดทราบได้เพียงอย่างเดียวคือ น้ำตา แต่ความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ทางอารมณ์ เหมือนกับคนปกติสามัญทุกประการ ทุกวันนี้วิชิตฯพูดได้ นานๆคำ ต้องใช้ทักษะในการรับฟังสูงมาก ผมคุยด้วยยังมีความรู้สึกว่าวิชิตฯจะต้องเหนื่อยมากที่พูดกับผม
อาการของวิชิตฯก็คือ เส้นโลหิตสมองตีบนั่นเอง
มาดูอีกรายหนึ่ง เพื่อนของผมอีกนั่นแหละ เป็นนักดนตรีและนักร้อง สมัยอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อนผมคนนี้อยู่วง สามพรานคอมโบ้ พ.ต.อ.สุรชาญ มาตยประพันธ์ ปัจจุบันเกษียณแล้ว แต่อาชีพดนตรีไม่เกษียณ เมื่อต้นมีนาคมปีนี้ สุรชาญฯบอกผมว่า ได้งานแล่นดนตรีที่จตุจักรพลาซ่าร์ เล่นในตอนกลางวันที่ศูนย์อาหาร ยังชักชวนให้ผมและเพื่อนๆไปร้องเพลงกันที่นั่น ผมตั้งใจจะไปเยี่ยมเพื่อนสักครั้งแต่ยังไม่ทันไป เมื่อปลายเมษานี้เองสุรชาญฯโทรมา ผมฟังเสียงแล้วจำไม่ได้ว่าเป็นใคร ฟังคำพูดไม่รู้เรื่อง เหมือนคนหูหนวกคุยกัน กว่าจะรู้ว่าเป็นสุรชาญฯต้อง อะไรน๊า ๆ อยู่หลายครั้ง สุรชาญฯพูดช้า นานๆคำ และพูดเป็นคำๆแบบคนลิ้นไก่สั้น ได้ความว่าสุรชาญฯเป็นโรควูบไปเมื่อวันที่ ๑๐ เม.ย.นี้เอง ขณะพูดยังนอนอยู่ที่โรงพยาบาล พูดไม่ได้ไปหลายวัน พอพูดได้ก็รีบโทรมา สิ่งที่สุรชาญฯห่วงใย กลับกลายเป็นเรื่องของลูกแทนที่จะห่วงตัวเอง สุรชาญฯฝากเพื่อนช่วยดูแลลูก นี่แหละครับคือความรักและความห่วงใยของคน ห่วงลูกมากกว่าห่วงตัวเอง
ผมรีบถามอาการของสุรชาญฯ ว่าก่อนที่จะเกิดอาการ วูบเป็นอย่างไร โรคนี้เป็นกันมากจัง ผมชักกลัวซะแล้ว สุรชาญฯเล่าให้ฟัง มันเข้าลักษณะเดียวกับอาการของวิชิตฯเลย สุรชาญฯบอกว่า ตรวจเลือดเช็คไขมันอยู่เป็นประจำ เป็นปกติทุกอย่าง แต่ก่อนที่จะมีอาการวูบประมาณ ๕-๖ เดือน ไหล่ขวา แขนขวาเริ่มชาๆ ไม่มีแรง เมื่อยๆ ต้องขยับแกว่งแขนแบบวิชิตฯไปอีกคน รายนี้ไปพบแพทย์ ตรวจหาไขมันในเส้นเลือดเป็นปกติ แต่ความดันโลหิตสูง ประมาณ ๑๗๐ สุรชาญฯกินยาลดความดัน ต่อมาเท้าขวาเริ่มไม่มีแรงอีก เวลาเดินปลายเท้าขวาห้อย เดินแบบขะแหย่ง แล้วอยู่มาวันหนึ่งสุรชาญฯก็รู้สึกว่าโลกมันหมุนโคลงเคลง ชนิดที่ไม่สามารถยืนทรงตัวอยู่ได้เลย ฟุบนอนลงไป โชคดีที่มีผู้นำส่งหมอทันท่วงที จึงรอดชีวิต แต่พูดไม่ได้ ( ผมนึกถึงคนอีกหลายคนที่ล้มฟุบในห้องน้ำแล้วเสียชีวิต แต่สุรชาญโชคดีไม่ตาย ผมจึงได้ทราบว่า มันเป็นเช่นนี้เองที่ตายๆกัน ) สุรชาญฯเคลื่อนไหวไม่ได้ไปเกือบเดือน ผมไม่ทราบว่าเส้นโลหิตในสมองของสุรชาญฯแตกหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆคือ เส้นโลหิตสมองตีบ น่ากลัวจริงๆครับ คนเราถ้ามีความรู้สึก สามารถรับรู้ทางอารมณ์ แต่พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ สื่อสารให้คนอื่นรู้ถึงความต้องการไม่ได้ ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ผมว่าตายไปเสียเลยจะดีกว่า อยู่ไปมันทรมาน
โรคหลอดโลหิตสมองคร่าชีวิตเพื่อนผมไปแล้วถึง ๒ คน คนแรก พ.ต.อ.นิรันดร์ฯ พอเกษียณแล้วไปประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงสัตว์ สร้างฟาร์มใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ห่างไกลจากตัวเมือง เจ้าตัวปรารถนามาตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ ว่าหากเกษียณจะหนีความวุ่นวายไปอยู่ชนบท หวังสูดอากาศบริสุทธิ์ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตนปรารถนา ผมเคยไปเยี่ยมที่ฟาร์มชื่อ ทุ่งแสงตะวัน อยู่ในเขตอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา อยู่กลางทุ่งเลย อากาศดีมาก ห่างจากแสงสีเสียง จะเข้าเมืองทีก็ต้องเดินทางกันนานเป็นชั่วโมง ลืมนึกไปว่า อายุขนาดนี้แล้วต้องอยู่ใกล้ๆหมอ อยู่มาวันหนึ่ง ภรรยาก็ไปพบเพื่อนผมคนนี้นอนฟุบอยู่ในห้องน้ำ พูดจาอะไรไม่ได้ ก็โรคหลอดเลือดสมองนี่แหละ ภรรยารีบพาส่งโรงพยาบาล กว่าจะถึงหมอก็สิ้นใจเสียแล้ว
เพื่อนคนที่ ๒ พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ฯ ตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ เจอกับผมบ่อยที่โรงพยาบาลตำรวจ มาวันหนึ่งก็ได้รับโทรศัพท์จากภรรยาของเพื่อนผู้นี้ว่า เพื่อนผมผู้นี้เส้นโลหิตในสมองแตก เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประสาทพญาไท ผมไปเยี่ยมเพื่อนพูดไม่ได้ ต้องให้อ็อกซิเยนช่วยหายใจ หมอบอกว่าเส้นโลหิตที่แกนสมองแตก ถึงจะผ่าตัดก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก อย่างดีก็เป็นเจ้าชายนิทรา ก็เท่ากับตายทั้งเป็น ที่ยิ่งร้ายก็คือ เมียลูกพลอยตายทั้งเป็นไปด้วย คือต้องหมดค่ารักษาพยาบาล ต้องเฝ้าดูแล ทำมาหากินไม่ได้ ภรรยาและลูกของเพื่อนใจเด็ดเดี่ยวมาก และเพื่อนผมคงเคยสั่งเอาไว้ด้วย เลยไม่ให้หมอผ่าตัดสมอง เฝ้าดูอาการอยู่อาทิตย์กว่า ก็รับเพื่อนผมไปทำการฌาปนกิจเรียบร้อย
โรคหลอดโลหิตสมองร้ายแรงไม่แพ้โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคร้ายอื่นๆ ผมไม่ใช่หมอ แต่ผมเห็นเพื่อนๆเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้ นอกจากความเศร้าแล้วมันยังทรมาน โรคร้ายเหล่านี้ถ้ารู้เสียแต่เนิ่นๆ รักษา ป้องกันได้ บางคนไม่สนใจอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเอง บางคนซ่อนอาการเจ็บป่วยไม่อยากให้ใครรู้ บางคนก็ไปรักษาแบบผิดๆ ดังนั้นหากท่านมีอาการใกล้เคียงกับอาการของเพื่อนผมที่ได้กล่าวไปแล้ว ตรวจหาสาเหตุให้พบ เดี๋ยวนี้การแพทย์ทันสมัยมาก การตรวจเลือดเป็นเพียงการวินิจฉัยเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ละเอียดพอ บางโรงพยาบาลมีเครื่องมือทันสมัย สามารถฉายรังสี ตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) ตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) มีโรงพยาบาลและแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ก็อีกนั่นแหละ แพทย์เก่งๆ เครื่องมือทันสมัย ค่าใช้จ่ายก็ย่อมแพง ผู้ที่ยังหนุ่มสาววัยทำงาน รีบหาเงินสร้างฐานะครอบครัว ส่งเสียลูกเล่าเรียน แล้วยังต้องเก็บส่วนหนึ่งไว้รักษาตัวเองด้วย มิฉะนั้น หากท่านไม่ตายโหงเสียก่อน ก็อาจจะต้องตายแบบทรมาน
ความที่ผมกลัวโรคภัยไข้เจ็บคุกคาม จึงต้องหาทางป้องกัน โดยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับตัวเอง
๑ ออกกำลังกายทุกวันๆละประมาณ ๑๕ นาที กายบริหารธรรมดา แต่ขอให้ทำทุกวันเถอะ ท่าเหวี่ยงแขน แกว่งแขน หมุนตัว ก้มเงย ยกเข่า ชกลม เตะลม ยกน้ำหนัก (ดัมเบลล์) เดินบนสายพาน นานๆครั้ง มันขี้เกียจและเบื่อ
๒ ทานอาหารหนักไปทางผักและปลา (ต้องเป็นผักที่ปลอดสารพิษ) ข้าวก้อง พยายามไม่ทานเนื้อสัตว์ งดเว้นไขมัน หวานและเค็ม
๓ ดื่มน้ำไม่เย็น เช้าตื่นนอนต้องอัด ๒ แก้วก่อน ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ ไม่ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำที่ใส่สี และชากาแฟ
๔ ทานวิตามีน ( ไม่ทานยาเพราะกลัวไตพัง ทำให้ตายเร็วเข้าไปอีก)
(๑) FISH OIL เพื่อสร้างไขมันตัวที่ดี
(๒) GLUCOSAMINE บำรุงข้อ
(๓) Saw Palmetto ป้องกันต่อมลูกหมากโต (โรคประจำตัวผู้สูงอายุ ถ้าใครเป็นจะปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะไม่ค่อยออก)
(๔) GINKGO BILOBA (สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย) เจ้าตัวนี้จะช่วยขยายปลายหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดสมองตีบ
(๕) BIOTIN โปรตีนสำหรับเส้นผม ( กลัวมาก พอกับกลัวโรคภัยไข้เจ็บคือ หัวล้าน)
(๖) แถมอีก ๑ ตัวคือ MELATONIN ช่วยให้นอนหลับสบาย ไม่ใช่ยานอนหลับนะ ที่อเมริกาทานกันเยอะ แต่ทานแล้วฝันอุตลุต
วิตามินพวกนี้ เมื่อก่อนต้องฝากซื้อที่อเมริกา ซึ่งประเทศเขาไม่ถือเป็นยา เป็นพวกอาหารเสริม พวก DIETARY SUPPLEMENT หาซื้อได้ตาม SUPPER MARKET ทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้ที่ชั้น ๓ มาบุญครองมีขายเกลื่อน
ผู้ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม จะลองหาซื้อทานตามสูตรที่ผมทานอยู่ก็ได้ คนรุ่นหนุ่มสาวอาจจะไม่สนใจ คิดว่าไกลตัว ซึ่งเมื่อก่อนผมก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน แล้วมันก็เจอเข้าจริงๆ ป้องกันไว้แต่ยังเยาว์วัยก็จะดี อายุมากเจอทุกคน ตอนนี้อาจจะยังไม่เชื่อ แต่พอถึงเวลานั้นแล้วจะนึกถึง
ควรจะรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองไว้สักหน่อยนะครับ
โรคหลอดเลือดสมองตีบ
อัมพาตหรืออัมพฤกษ์เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมองเกิดภาวะผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดกับเนื้อสมองทำให้สมองส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ อาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร อาการที่มักจะพบได้ทั่วไปก็คือ พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง แขนขาไม่มีแรง หรือชา ซึ่งอาการอาจเกิดแบบทันทีทันใด และค่อย ๆ เป็นมากขึ้นในช่วง 2-3 วัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ สาเหตุอาจแยกได้ง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่มก็คือ
1. กลุ่มหลอดเลือดสมองตีบตัน
2. กลุ่มเลือดออกในสมอง
กลุ่มแรกพบมากประมาณ 70% ของความผิดปกติทางสมองทั้งหมด ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสาเหตุความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ผลที่เกิดได้กับทั้งผู้ป่วยหรือครอบครัว คือประมาณ 30% ของผู้ที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นจะเสียชีวิต อีก 30% ต้องทุพพลภาพหรือทำงานไม่ได้ และมีเพียง 30% เท่านั้นที่หายจากโรคแต่ก็ต้องทานยาควบคุมไปตลอดชีวิต
สาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน มี 3 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ
1. เกิดจากเส้นเลือดมีการตีบแคบลงเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา ของหลอดเลือด ในสมองซึ่งส่วนมากในคนไทยมักจะเป็นสาเหตุนี้
2. มีก้อนเลือดแข็งตัวขนาดเล็กหลุดจาดลิ้นหรือผนังหัวใจไปตามกระแสเลือด เกิดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่หัวใจโตอยู่ก่อน
3. เกิดจากมีการตีบแคบลงเรื่อย ๆ ของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอ ถ้าเป็นหลอดเลือดที่คอด้านหน้าตีบ อาการในระยะแรก โดยจะมาด้วยอาการแขนขาชา หรือมีอาการอ่อนแรงเป็นพัก ๆ หรือในบางรายมีอาการพูดไม่ออกหรือพูดไม่ชัด แต่ถ้าเป็นหลอดเลือดที่คอด้านหลังตีบจะมาด้วยมีอาการมึนงงเป็น ๆ หาย ๆ ความจำไม่ดีหรือตามัวลง
อาการและความรุนแรง
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน และหลอดเลือดในสมองก็มีขนาดต่าง ๆ กัน อาการของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาการดำเนินของโรค ตำแหน่งที่หลอดเลือดเกิดการตีบตันในสมอง และขนาดของหลอดเลือดที่ตีบตันว่าเป็นหลอดเลือดใหญ่ หรือหลอดเลือดขนาดเล็ก อาการของโรคแบ่งความรุนแรงได้ 3 ระดับ คือ
อาการน้อย อาการจะเป็นไม่มาก อาจมีเพียงพูดไม่ชัด มุมปากตก แขนขาไม่มีแรง แต่พอที่จะเดินได้มักไม่มีอาการปวดศีรษะ กลุ่มนี้ถ้าได้รับการรักษาในระยะแรก ๆ ภายใน 2-4 สัปดาห์ มักจะกลับคืนเกือบปกติ หรือหายเป็นปกติได้ในบางราย
อาการปานกลาง อาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด และอ่อนแรงมากขึ้น จนขยับแขนขาไม่ได้ หรือพูดไม่ได้เลย กลุ่มนี้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพื่อสังเกตอาการ และรีบให้การรักษาในโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ภายใน 3-5 วัน หลังจากเริ่มมีอาการปรากฏ เช่น ซึมลงจากภาวะสมองบวมหรือมีภาวะเลือดซึมในสมอง การฟื้นตัวในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มเห็นชัดประมาณสัปดาห์ที่ 3 อาการหลังจากนี้มักจะไม่กลับมาเป็นปกติ อาจจะมีอาการเกร็งพูดไม่ชัด ซึ่งต้องทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ไม้เท้า รถเข็น
อาการหนัก มักไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ต้น หรือมีอาการซึมลงอย่างรวดเร็วมากภายใน 24 ชั่วโมง กลุ่มนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ตีบตัน ซึ่งในผู้ป่วยสูงอายุโดยมากจะมีโรคประจำตัวหลายอย่างอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานหรือเคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาก่อน กลุ่มนี้มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่ การติดเชื้อในปอดจากการสำลัก สมองบวม ผู้ป่วยมักจะต้องได้รับการดูแลในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก หรือหออภิบาลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ส่วนใหญ่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถจะหายใจได้เอง และบางรายต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อลดภาวะสมองบวมเมื่อพ้นระยะวิกฤตแล้วผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ระดับหนึ่งแต่ไม่มาก เนื่องจากเนื้อสมองถูกทำลายไปมาก ส่วนใหญ่จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงหรือรถเข็น มักจะต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือตลอดเวลา และต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาบ่อยครั้งเพราะปัญหาการติดเชื้อ เช่น ปอดอักเสบ แผลกดทับ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ฯลฯ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองขาดเลือด
โรคสมองขาดเลือดมักเกิดในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุร่วมกันของทั้งโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคนี้จึงแยกได้ 2 ประเภท คือ
ปัจจัยเสี่ยงหลัก
โรคความดันโลหิตสูง 70% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ โรคความดันโลหิตสูงจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคของระบบหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ เพราะจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวได้ง่ายขึ้น ถ้าระดับไดแอสโตลิค 105 มิลลิเมตรปรอท จะมีโอกาสเสี่ยงมากถึง 10-12 เท่า และเมื่อลดความดันโลหิตได้ 5-6 มิลลิเมตรปรอท จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ประมาณ 40%
โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานานโดยมิได้รับการรักษา หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตชนิดหลอดเลือดตีบได้สูงเพราะโรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวได้ง่าย โดยจะมีหลอดเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย และถ้าเป็นที่หลอดเลือดสมองจะเกิดอัมพาตขึ้น อัตราเสี่ยงของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า
โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจชนิดขาดเลือดไปเลี้ยง มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 2-5 เท่าของคนปกติ และมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเอเตรียลฟิบริเรชั่น (Atrial Fibrillation) มีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 6 เท่า ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากมีลิ่มเลือดไหลไปอุดที่สมอง หรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจากการทำงานของหัวใจผิดปกติ
การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จะเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้ป่วยเกิดอัมพาตได้ง่าย โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นอัมพาตได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มากขึ้น หากหยุดบุหรี่ได้ 2-5 ปี พบว่าโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 30-40%
ปัจจัยเสี่ยงรอง
มีไขมันสูงในหลอดเลือด (Hyperlipidemia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โคเลสเตอรอล (Cholestorol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดสมองเกิดพยาธิสภาพ และมีการอุดตันตามมาในที่สุด
แอลกอฮอล์ อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ถ้าดื่มเป็นปริมาณมาก เพราะจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดตีบตามมา แต่ถ้าดื่มในปริมาณที่ไม่มากอาจจะมีฤทธิ์ป้องกันภาวะหลอดเลือดตีบได้
ขาดการออกกำลังกาย การที่ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะเป็นปัจจัยทำให้ผู้ป่วยอ้วน และเกิดภาวะเครียดซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมต่อการเกิดอัมพาต ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิต ลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเพิ่มไขมันที่เป็นประโยชน์ กล่าวคือทำให้หลอดเลือดไม่แข็งตัวอีกด้วย
ฮอร์โมน ยังไม่พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างชัดเจน ยกเว้นในผู้หญิงที่รับประทานฮอร์โมนในขนาดที่สูงร่วมกับมีความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่
การตรวจสอบความเสี่ยงของโรค
เราสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของโรคได้หลายวิธี ได้แก่
1. การตรวจเม็ดเลือดแดง เพื่อดูความเข้มข้นของเกล็ดเลือด
2. การตรวจการอักเสบของหลอดเลือด
3. การตรวจระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด
4. การตรวจวินิจฉัยรอยงโรคด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีความแม่นยำสูง เช่น
4.1 การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) เป็นการตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองว่ามีการแตกหรือตีบตันหรือไม่
4.2 การตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นการถ่ายภาพเอ็กซเรย์สมองด้วยสนามแม่เหล็กที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบการตีบตันของหลอดเลือดสมองได้ตั้งแต่ในระยะแรก จะมีข้อห้ามในผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือมีประวัติฝังโลหะไว้ในร่างกายใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) หรือเคยผ่าตัดใส่คริปในสมอง (Aneurysmal Cripping)
4.3 การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณคอที่เป็นหลอดเลือดเลี้ยงสมอง และตรวจหาความผิดปกติกรณีหลอดเลือดสมองโป่งพอง
การทำคอมพิวเตอร์สมองชนิดสามมิติ (Spiral CT Scan) เป็นเครื่องมือที่นำมาตรวจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างดีเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไม่นาน และต้องรีบให้การรักษา เพราะสามารถมองเห็นหลอดเลือดอุดตันภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที และสามารถทำในผู้ป่วยได้ทุกกรณี
การทำอัลตราซาวด์หลอดเลือดคอ (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อตรวจภาวะการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง
การป้องกัน
ทุกคนสามารถป้องกัน อัมพาต ได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพ และลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
งดสูบบุหรี่
ดูแลตนเองในด้านการรับประทานอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รักษาความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ในผู้ป่วยหลอดเลือดที่คอตีบ และเคยมีอาการของเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
การผ่าตัดหลอดเลือดที่คอเป็นการป้องกันการเกิดอัมพาตซ้ำได้