บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
ตำรวจกับโคตรสารพัดปัญหา
หน้าหลัก ›› บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง ›› ตำรวจกับโคตรสารพัดปัญหา
เมื่อวันก่อนพรรคพวกผมโทรมา จะไปแจ้งความที่โรงพักช่วยฝากให้หน่อย หมายถึงให้ช่วยฝากฝังกับเจ้านายที่โรงพัก กลัวตำรวจไม่รับแจ้งบ้าง กลัวตำรวจดุบ้าง ผมบอกว่า ไปได้เลยเดี๋ยวนี้โรงพักเขาพัฒนาไปเยอะแล้ว เขาต้อนรับประชาชนด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเอง ( ตอนนี้จะเพี้ยนไปหรือยังก็ไม่รู้ ตอนที่ผมรับราชการอยู่ พวกเราช่วยกันปรับปรุงแก้ไขภาพพจน์ของโรงพัก ให้เป็นที่พึ่งของคนที่เดือดร้อน จนมีคำขวัญ “โรงพักของเรา”บ้าง “โรงพักเพื่อประชาชน”บ้าง เพื่อให้ดูเป็นมิตร หากว่าปัจจุบันไม่เป็นอย่างที่ผมว่าไว้ เขียนมาบอกกล่าวกันนะครับ)

สมัยผมอยู่นครบาล มีเจ้านายที่เข้มงวดเรื่องนี้ ท่าน พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ท่านเป็นคนละเอียดมาก มีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานี ( ผกก.) และระดับรองๆลงมา ( รอง ผกก.) ต้องเข้าเวรอำนวยการอยู่ที่ สน. ถ้าท่านไปตรวจแล้วไม่พบเป็นเรื่อง หรือบางทีท่านโทรไปสอบถาม โดยใช้โทร.พื้นฐาน (เบอร์ 02) ไม่โทรเข้ามือถือ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ระดับผู้บังคับบัญชาควบคุมการปฏิบัติงานบนโรงพักอย่างใกล้ชิด มีหลายๆโรงพักทั้งในนครบาลและภูธร ปฏิบัติการทางรุกด้านประชาสัมพันธ์ เช่นจ้างประชาสัมพันธ์ สาว – หนุ่ม หน้าตาดี พูดจาไพเราะมีอัทธยาศัยไว้ต้อนรับประชาชนที่ไปติดต่อที่ สน. ขอยกตัวอย่างตอนที่ผมอยู่ที่ นครบาล ๔ ผู้กำกับการ สน.โชคชัย ( พ.ต.อ.พินิต มณีรัตน์ ) คนส่วนมากเรียก “ผู้กำกับแมว” เป็นนักประชาสัมพันธ์ เน้นหนักเรื่องการบริการและเข้าถึงประชาชน ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมบนโรงพักมาก โดยให้ กต.ตร.(ภาคประชาชน) จัดเวรพวกประชาชนด้วยกันอยู่บนโรงพัก คอยสอบถามสารทุกข์สุกดิบของคนที่ขึ้นโรงพัก ( ชาวบ้านด้วยกันพูดจากันรู้เรื่อง เพราะบางเรื่องชาวบ้านพูดกับตำรวจ ตำรวจไม่เข้าใจ) กต.ตร.ที่ผู้กำกับแมวตั้งไว้ ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ คล้ายๆกับเจรจาความไกล่เกลี่ย พวกคดีมโนสาเร่ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องคดีอาญา ได้ผลดีมาก ทำให้คู่พิพาทเข้าใจกัน เกิดความสามัคคีปรองดอง โรงพักของผู้กำกับแมวดังอยู่พักหนึ่ง ตอนหลังตำรวจเขามีการเปลี่ยน “นาย” นายใหญ่คนไหนมาก็หนีบเอาพวกพ้องของตัวเข้ามาด้วย ผู้กำกับแมวเลยกระเด็นไปอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน

ผมเขียนเรื่องลงในwebแล้ว เรื่อง “ขึ้นโรงพักไม่ต้องกลัว” ลองคลิกเข้าไปหาอ่าน มีเคล็ดลับที่จะบอกอีกเรื่องก็คือ เมื่อเราจะไปติดต่อสถานที่ราชการใดๆ ไม่จำเป็นจะต้องสถานีตำรวจ และรวมถึงสถานที่เอกชนอื่นๆก็เหมือนกัน คือเรื่องของการแต่งตัว พยายามแต่งให้มันดูดี ผมไม่รู้จะพูดยังไงดี (ท่านแต่งตัวแบบใด เขาก็ต้อนรับท่านแบบที่แต่งตัว) ยกตัวอย่างตัวผมเองก็แล้วกัน ในตอนที่ผมยังรับราชการอยู่ ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ผมนุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อยืดคอกลม สวมรองเท้าแตะ ขับรถไปธุระ ผ่านโรงพักในนครบาลแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่สถานีที่ผมกำกับดูแล พอดีนึกขึ้นได้ว่า จะต้องไปเอาเอกสารที่เจ้านายของโรงพักนั้นซึ่งมีห้องทำงานอยู่ชั้นบน ผมจอดรถที่ด้านหลังโรงพักแล้วรีบเดินขึ้นโรงพัก รีบผ่านสิบเวรโดยไม่ได้บอกกล่าว จะรีบขึ้นบันไดไปชั้นบน ทันใดก็ได้ยินเสียงดังจนผมสะดุ้ง ” ไปไหน ๆ” ที่สะดุ้งเพราะคำพูดมันห้วนๆและเสียงดัง ไม่คิดว่าจะเจอเช่นนี้ ผมตอบว่า ” ไปพบสารวัตร” เจ้าหน้าที่คนเดียวกันถามอีก ” มีเรื่องอะไร สารวัตรไม่อยู่ “ ดีแต่ว่าผมมาคนเดียว ถ้าผมมีพรรคพวกอยู่ด้วย คงจะอายพรรคพวกเพราะโดนลูกน้องตะคอก พอดีมีตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่ใกล้ๆคนหนึ่งเห็นผมเข้า รีบกระซิบบอกเพื่อนดังๆจนผมได้ยิน “เฮ้ย ผู้การ มึงจำไม่ได้หรือ” ตำรวจคนแรกหน้าเปลี่ยนสี และรีบพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง “ขอโทษครับ ผมจำไม่ได้” ผมไม่เคยนึกตำหนิตำรวจผู้นี้ แต่ตำหนิตัวผมเอง ที่แต่งตัวไม่ดี ไม่เรียบร้อย ไม่เคารพสถานที่ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อผมจะไปติดต่อสถานที่แห่งใด ผมจะแต่งตัวเรียบร้อย สวมเสื้อเชิ๊ตสีเรียบผูกเน็กไท ขอให้เรื่องที่ประสบกับผมเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน

บางทีเราก็ต้องให้อภัยตำรวจเขาด้วย เพราะเขาอยู่บนโรงพัก ต้องรับรู้และแก้ปัญหาของผู้อื่น ร้อยแปดปัญหา คนส่วนใหญ่มีทัศนคติที่เข้าข้างตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ คู่กรณีหรือฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิดเสมอ (ตัวกูฝ่ายถูก) ไม่มีใครยอมเสียเปรียบ ลืมไปว่า ตำรวจก็คนธรรมดา ( คลิกอ่านเรื่อง “ตำรวจไม่ใช่เทวดา” ที่เคยลงไปแล้วก็ได้) มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับท่านทั้งหลาย เพียงแต่อาศัยความรู้ที่เล่าเรียนมาและประสบการณ์ ตัดสินข้อพิพาทบางเรื่อง อาจไม่ตรงกับความต้องการในใจของท่านก็ได้ ผู้แจ้งความบางรายก็หัวหมอ (อวดรู้ หรืออาจจะรู้จริงๆก็ได้) ไม่เชื่อคำชี้แจงของตำรวจ แถมสอนมวยให้กับตำรวจอีก ตำรวจบางคนก็ดี ยอมรับสภาพ (รับว่าไม่รู้จริงๆ) บางรายก็ของขึ้น ทะเลาะกับผู้มาแจ้งความ เป็นเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาต้องไปนั่งแก้อยู่เสมอๆ ผมจึงต้องอบรมลูกน้องอยู่เสมอๆว่า ต้องมีความอดทนและใจเย็น พูดจาสุภาพ ยึดวิชาการ ความจริงเมื่อตำรวจวินิจฉัยคดีหรือตัดสินเรื่องใดไป หากเราเห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือน่าจะไม่เป็นธรรม ท่านสามารถไปฟ้องคดีเองได้ ตัวอย่างเช่นอดีต ผบ.ตร.ท่านหนึ่ง ท่านฟ้องคดีเองเป็นร้อยๆเรื่อง ไม่เห็นจะต้องพึ่งโรงพัก

ตำรวจนอกจากเรียนรู้กฏหมาย วิทยาการตำรวจและยุทธวิธีแล้ว ต้องมีจิตวิทยาสูงและยังจะต้องมีลูกเล่นอีกด้วย การทำสำนวนแต่ละเรื่อง สรรพเอกสารมันมากมาย ท่านที่ไปแจ้งความอาจจะไม่ทราบ เพียงท่านไปแจ้งความเรื่องๆหนึ่ง ตำรวจสอบถามท่านประมาณ ๒๐ นาที พิมพ์คำให้การท่านอีกประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วท่านก็กลับบ้านไป คอยนับวันเวลาว่าเมื่อไรเรื่องของท่านจะเสร็จ หารู้ไม่ว่า เมื่อท่านออกจากโรงพักไปแล้ว มีคดีใหม่เกิดขึ้นอีกเป็นสิบคดี บางคดีต้องออกไปดูสถานที่เกิดเหตุ (ไม่ออกไปดูไม่ได้เลย เพราะจะเกิดปัญหาในการสอบสวนปากคำพยาน ซักถามไม่ได้เพราะไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ และจะต้องไปดูร่องรอย หลักฐานในที่เกิดเหตุด้วย) จึงมีอยู่บ่อยๆ ผู้เสียหายรอคอยที่บ้านเพื่อให้ตำรวจไปดูสถานที่เกิดเหตุ ใช้เวลารอคอยนานเป็นสิบชั่วโมง พอดีตำรวจออกเวร นัดสอบพยานเรื่องอื่นไว้ ลืมเรื่องเก่าที่จะต้องออกไปดูก็มี ในคดีแต่ละเรื่องที่ท่านแจ้งความไว้ ตำรวจจะต้องพิมพ์เอกสารเรื่องละไม่ต่ำกว่า ๑๐ หน้ากระดาษเอ๔ ไหนจะคดีที่มีตัวผู้ต้องหา จะต้องไปผัดฟ้อง ฝากขัง อันนี้พลาดไม่ได้ ถ้าพลาดศาลไม่ออกหมายขัง เรือนจำปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หรือไปขังผู้ต้องหาเกินอำนาจ ผู้ต้องหาโดนปล่อย ตำรวจต้องติดคุกแทน สมมุติว่าวันหนึ่งในช่วงเข้าเวร รับคดีไป ๑๐ เรื่อง แล้วเดือนหนึ่งถ้าเข้าเวรทุกวัน จะต้องรับคดีสักเท่าไร ทุกโรงพักจึงได้เกิดปัญหาสำนวนค้าง ถูกต้องกรรมการสอบวินัย ตำรวจบางคนถึงกับต้องยิงตัวตาย มีเพื่อนผมคนหนึ่งหอบสำนวนค้างหนีออกจากโรงพัก หายตัวไปเลย ทราบว่าหนีไปบวช ส่วนตัวผมในสมัยที่เป็นพนักงานสอบสวน จ้างตำรวจเก่าไว้ช่วยพิมพ์เอกสารถึง ๒ คน ถึงกระนั้นยังต้องหลับนอนในห้องสอบสวนเลย

มาถึงตอน “ลูกเล่น” ตำรวจคนไหนลูกเล่นดีไม่ต้องทำสำนวนการสอบสวนมาก ไม่ได้เป่าคดีนะครับ คู่ความตกลงยินยอมกันเอง วิธีการนี้พวกเราก็ร่ำเรียนมาจากรุ่นพี่ๆตอนที่ไปฝึกงาน ในสมัยที่ผมเป็นร้อยตำรวจตรีจนถึงร้อยตำรวจเอก ประมาณ ปีพ.ศ.๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๔ วิธีการนี้ยังใช้ได้ดี แต่ปัจจุบันนี้คงจะต้องพัฒนาไปมากกว่านี้ เพราะพื้นฐานการศึกษาของประชาชนในปัจจุบันสูงมาก เข้าใจว่าในปัจจุบันตำรวจก็คงมีลูกเล่นอีกแบบหนึ่ง มาดู “ลูกเล่น”ตำรวจโบราณ

๑ ศาลพระภูมิ สมัยที่ผมอยู่ สน.พระราชวัง, สน.บางยี่เรือ ยังใช้ได้ผล คดีคู่ความแจ้งความเรื่องหมิ่นประมาท เรื่องตบตีทำร้าย เรื่องดูหมิ่นซึ่งหน้า (ด่ากัน) ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนด่าว่าฝ่ายไหนก่อน บางรายก็บอกว่าไม่ได้พูด ไม่ได้ทำร้ายร่างกายบ้าง เขาทำผมก่อนบ้าง เถียงกันจนตำรวจปวดหัว ไม่รู้จะเชื่อฝ่ายไหน ผลมาลงเอยตรงที่ให้คู่ความสาบานกัน การสาบานก็ต้องทำต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามโรงพักจึงต้องมีศาลพระภูมิ ศาลจะศักดิ์สิทธิ์จนทำให้ชาวบ้านเชื่อ มันก็ต้องสร้างขึ้นมา เช่นทำให้จอมปลวกขึ้น ไม่ยาก ให้ตำรวจลูกน้องหาดินจอมปลวกมาใส่ หาผ้าแพรสีๆมาผูก มีการลงรักปิดทอง จุดธูปเทียนบูชา ถวายดอกไม้ และที่สำคัญพวกเราต้องไปไหว้กันทุกวัน ชาวบ้านเห็นตำรวจไหว้ก็จะพากันมาไหว้ตาม หาหน้าม้ากระจายข่าวว่าศาลศักดิ์สิทธิ์ เมื่อทำทุกวันๆก็จะศักดิ์สิทธิ์ไปเอง ความจริงผมว่า ที่คู่ความยอมสาบานเพราะคู่ความใช้เวลาเถียงกันบนโรงพักนาน อยากจะกลับเต็มทน แต่ไม่รู้จะหาทางออกยังไง กลัวเสียหน้าฝ่ายตรงข้าม กลัวจะหาเป็นฝ่ายแพ้ ตำรวจต้องอ่านใจให้ออก นำพาไปสาบานซะเลย สำทับอีกว่า ศาลนี้เฮี้ยนมาก ไม่แน่จริงอย่าไปลองไปท้าเชียวนา จะเห็นผล ตายภายใน ๓ วัน ๗ วัน รายก่อนเสร็จคำสาบานดิ้นพราดๆหน้าศาล พอมีการห้ามปรามแล้วคู่ความจะฮึก แล้วตำรวจก็นำสาบาน ฟังแล้วน่ากลัว แล้วคู่ความก็เลิกลากันไป ตำรวจก็สบายไม่ต้องทำคดี

๒ อู่ซ่อมรถ ผมต้องหาอู่ซ่อมรถในพื้นที่ไว้เป็นพวก คดีเรื่องรถชนหรือโดนกันนี่ปวดหัวมาก (คลิกดูเรื่องเก่าที่เคยลง “ขับรถโดนกัน ขึ้นโรงพักต้องไม่เสียเปรียบ” สมัยก่อนถนนยังแคบๆ ไม่มีเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ เวลารถชนหรือโดนกัน ขับขี่กันมายังไงเราไม่เห็น มีเรื่องแล้วให้เราไปดูที่เกิดเหตุ ต่างฝ่ายต่างแยกไปอยู่กันคนละที่ ฝ่ายโน้นก็ว่าฝ่ายนี้ล้ำเส้น ฝ่ายนี้ก็ว่าฝ่ายโน้นเข้ามาโดน ส่วนมากตำรวจจะถามว่ารถมีประกันภัยไหม ถ้ามีให้เรียกประกันมา ปล่อยให้ประกันแต่ละฝ่ายเถียงกันแทน ถ้าไม่มีประกันภัย ผมก็จะชี้ข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการขับขี่ โดยอาศัยเส้นทางและกฏจราจรเป็นหลัก ส่วนมากจะให้เสียเปรียบด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่แยกชี้แจงทีละฝ่าย แล้วปล่อยให้คู่กรณีตกลงกัน คู่กรณีเห็นว่าตนเสียเปรียบ ขืนอยู่ไปก็เสียเวลา ต่างคนต่างกลับไปซ่อมเองดีกว่า แต่มีบางรายที่เป็นรถของผู้หลักผู้ใหญ่โดนกัน บางเรื่องไปดูที่เกิดเหตุแล้วชัดเจน ตัดสินง่ายก็ไม่มีปัญหา แต่บางเรื่องก้ำกึ่ง ตัดสินยาก เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ ผมตัดสินใจให้อู่พรรคพวกซ่อมให้ไปเลย ผมจ่ายค่าซ่อมเอง

๓ เทคนิคการใช้ศิลปะต้อนรับขับสู้ อันนี้ต้องศึกษาดูคน เพื่อนผมคนหนึ่งใช้วิธีดูโหงเฮ้ง บางคนก็ดูลายมือ ใครมาแจ้งความจะชมเรื่องโหงเฮ้งบ้าง ดูลายมือบ้าง แต่ต้องดูตาม้าตาเรือ รายใดควร รายใดไม่ควร ไม่ใช่คนกำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน เรื่องกำลังจะเป็นจะตาย ดันไปชวนดูลายมือ บอกแล้วไงว่าอาศัยจิตวิทยา พวกตำรวจเป็นหมอดูเก่ง (ความจริงเดาโดยใช้หลักขิตวิทยา) ผู้แจ้งความติดใจเรื่องทำนายพาลเลิกล้มความตั้งใจที่จะแจ้งความไปเลย ส่วนผมใช้วิธีรับรอง อันแรกก็คือเลี้ยงเครื่องดื่ม เช่น โอเลี้ยง กาแฟเย็น โอวัลติน ซึ่งต้องอ่านลูกค้า (ผู้แจ้งความ)ให้ออกว่า ควรจะสั่งอะไรจึงจะเหมาะสม ถ้าหากเวลาที่แจ้งความคาบเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ผมจะขอเลี้ยงอาหารผู้ที่มาแจ้งความ เรียกว่าเลี้ยงดูกันจนเกรงใจ เมื่อสร้างความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นแล้ว ปัญหาต่างๆที่เราแนะนำไปผู้แจ้งจะเชื่อ

๔ การไปสอบสวนและเยี่ยมเยียนที่บ้านพัก มีบ่อยๆเหมือนกันที่คดีเข้ามามาก จะต้องระบายหรือลดโหลดออกไปเสียบ้าง จึงจำเป็นต้องใช่วิธี ขอไปสอบสวนที่บ้าน อันนี้ต้องดูว่าบ้านผู้แจ้งอยู่ในท้องที่หรือไม่ ถือเป็นการตรวจเยี่ยมเยียนประชาชนไปด้วย ผู้แจ้งก็ชอบใจเพราะไม่ต้องเสียเวลาคอยนาน แต่ต้องไปสอบสวนเขาจริงๆนะ

การแก้ปัญหาก็อีกเรื่องหนึ่ง ตำรวจมีปัญหาให้แก้ทุกวัน ตอนผมเป็นผู้หมวดอยู่ที่ สภ.อ.เมืองนครปฐม ตอนเช้าวันหนึ่ง ประมาณ ๗ โมง ขณะที่กำลังมีตลาดนัดที่ถนนเทศา ใกล้กับที่ทำการเทศบาลเมืองนครปฐม ปรากฏว่าไอ้ “ออด”หลังค่อมวิ่งราวสร้อยคอสองสลึง ของคนที่มาจ่ายกับข้าว ผู้เสียหายร้องให้ช่วย ใกล้เคียงมี “จ่าแกร” ตำรวจจราจรอ้วนพุงพลุ้ย น้ำหนักตัวประมาณ ๙๐ กิโล จ่าแกรกำลังให้สัญญาณจราจรอยู่ ได้ยินเสียงร้องร้องหันไปเห็นไอ้ออดวิ่งนำหน้าไปในระยะห่างประมาณ ๕๐ เมตร จ่าแกรวิ่งไล่ตาม ลองหลับตานึกภาพดู คนอ้วนวิ่งตามคนหลังค่อม ภาพจะน่าดูขนาดไหน ผลที่สุดตามกันจนทัน จับตัวได้ หญิงผู้เสียหายก็ตามไปถึง ชี้ให้จับไอ้ออดว่ากระชากสร้อย ไอ้ออดปฏิเสธ บอกว่าไม่ได้เอาสร้อยไป ท้าให้ค้นตัว จ่าแกรค้นตัวไอ้ออดแล้วไม่พบสร้อยของกลาง ตรวจดูตามเส้นทางที่วิ่งไล่ขับกัน เป็นถนนคอนกรีต ข้างทางเป็นกำแพงศาลเจ้า ถ้าโยนทิ้งต้องเห็นสร้อย จ่าแกรเป็นคนฉลาดถามไอ้ออดว่า “มึงกลืนเข้าไปหรือเปล่า” ไอ้ออดตอบว่า “เปล่ากลืน” ร้อนถึงผมซึ่งเป็นร้อยเวร ต้องเอาตัวไอ้ออดไป X-Ray พบสร้อยลักษณะแบบลูกโซ่ในช่องท้องไอ้ออด พอเห็นฟิล์มแล้วไอ้ออดจำนน ยอมรับสารภาพ จึงเอาตัวไปขัง แล้วทำยังไงจึงจะได้สร้อยมายึดเป็นของกลาง ผมต้องแยกไอ้ออดขังเดี่ยว จัดหาไหให้ ๑ ใบ ให้ไอ้ออดถ่ายลงในไห เจ้าประคุณเอ๋ย ไหที่หามาได้ปากไหช่างแคบเสียจริง กว้างไม่ถึงคืบ สูงประมาณศอกเศษ ไอ้ออดเจ้าปัญหาบอกว่า “ผมจะนั่งถ่ายได้ยังไง” ผมบอกนั่งให้ก้นพอดีกับปากไหก็จะถ่ายได้เอง ไอ้ออดเรื่องมากบอกว่า ถ่ายไม่ออก ผมต้องเอายาถ่ายผสมโอเลี้ยงให้ไอ้ออดดื่ม ได้ผล ไอ้ออดถ่ายสะดวก วันนั้นประมาณ ๕ ครั้ง แล้วจะรู้ยังไงว่าสร้อยในท้องไอ้ออดออกมาหรือยัง ผมจ้าง “ไอ้นอง” ซึ่งเป็นนักโทษเรื่องยาเสพติด พ้นโทษแล้ว แต่ชอบป้วนเปี้ยนแถวโรงพัก ผมให้ไอ้นองเข้าไปนอนห้องเดียวกับไอ้ออด เวลาไอ้ออดถ่ายลงไห ไอ้นองมีหน้าที่เทไหขี้ไอ้ออดลงในถาด แล้วใช้ไม้เขี่ยว่ามีสร้อยหรือไม่ วันรุ่งขึ้นจึงเจอสร้อย ทุลักทุเลน่าดู ก็ “ขี้”มันเหม็น แล้วมันก็น่าดูเสียเมื่อไหร่ เรื่องพรรค์อย่างนี้ หากไม่ได้เป็นตำรวจโรงพัก รับรองไม่เจอ แล้วยังมีเรื่องอื่นๆอีกร้อยแปด โรงพักนี่มันเรื่องมากจริงๆ
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์