บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
จากเด็กเลี้ยงควายมาเป็นนายร้อย
หน้าหลัก ›› บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง ›› จากเด็กเลี้ยงควายมาเป็นนายร้อย
วันก่อนเขียนเรื่อง"ทุกอย่างมีที่มาและที่ไป"ความตอนหนึ่งว่า ถูกให้ออกจากตำรวจแล้วกลับเข้ารับราชการได้อีก คนอยากรู้กลับเข้าได้ยังไง มีเรื่องที่น่ารู้อีกเยอะ เช่น การเข้ามาเป็นตำรวจ แล้วทำไมจึงถูกออก เป็นเรื่องเหลือเชื่อ หวังว่าคงจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ไม่สิ้นความพยามยาม เรื่องมันยาวจึงต้องขอแบ่งเป็นตอนๆ
ตอนที่ 1 จากเด็กเลี้ยงควายมาเป็นนายร้อย
เกิดปี ๒๔๘๖ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยฝีมือหมอตำแย ตัดสายสะดือด้วยผิวไม้รวก โตขึ้นเพื่อนล้อ ไอ้สะดือจุ่น จำความได้ตอนที่ถูกบังคับให้ไปเรียนหนังสือ ป.๑ ถึง ๔ ที่ศาลาวัดตลาด บางปะหัน ห่างไกลจากตัวเมือง (อยุธยา) ประมาณ ๑๕ กม. มีแต่ทุ่งนาป่าข้าว ไม่มีถนน เข้าเมืองได้วิธีเดียวโดยเรือหางยาวตามลำน้ำคดเคี้ยว กว่าจะถึงใช้เวลาประมาณ ๓ ชม. บางครั้งเจอน้ำตื้นคนโดยสารต้องลงไปช่วยเข็นเรือ
ช่วงเรียนหนังสือโชคดีที่ไม่ต้องไปไถนา สมัยนั้นใช้ควายไถ มีควายอยู่ ๓ ตัว โรงเรียนเลิกตอนบ่ายต้องเอาควายออกไปเลี้ยง ปล่อยกินหญ้ากลางทุ่งรวมกับควายของคนอื่นเป็นฝูงใหญ่หลายสิบตัว ใจระทึกกลัวจำควายไม่ได้ พอเย็นตะวันใกล้ตกดินควายทั้งฝูงจะพากันเดินไปลงน้ำ มีแม่น้ำใหญ่ห่างไปอีกหลายกิโล ใครเป็นเจ้าของก็ขี่ควายของตัวไป โชคดีที่ควายจำผมได้ เล่นน้ำเสร็จควายพาผมกลับบ้าน
จบ ป.๔ หมดข้ออ้าง ต้องไปทำนา ตีห้าแบกไถกระดิกควาย ตามพ่อกับพี่ไปไถนา คันไถอยู่บนไหล่ไม่ต่ำกว่า ๓๐ กก. เดินตามหัวคันนา ไม่มีรองเท้า กว่าจะถึงจุดหมายประมาณครึ่ง ชม. การผูกไถเข้ากับควายไม่ใช่เรื่องง่ายพี่กับพ่อต้องช่วย ลงมือไถตะวันยังไม่ขึ้น การไถนาเป็นศิลปะ ไถวนจากรอบนอกเข้าในรอยไถเรียงกัน ถึงจุดหัวโค้งต้องบังคับคันไถให้ดี รอยไถจึงจะโค้งมนสวย ต้องคอยบังคับคันไถให้ลงดินมีความลึกเท่าๆกัน จุดอวสานมาถึง เมื่อไถลงดินลึก ความจริงต้องกดหางคันไถเพื่อให้ผานลอยขึ้น แต่ดันไปยกหางค้นไถ ผานลงลึกจมดินเสียงดัง โพล๊ะ คันไถหัก เลิกกันไม่ต้องไถ เสียเวลาซ่อมไถไปหลายวัน
กลับบ้านร้องไห้ ชีวิตนี้ไม่ขอทำนาอีกต่อไป มันเหนื่อยหนักหนาสาหัส ขอไปเรียนต่อแสวงหาอาชีพใหม่ ส่วนแบ่งที่นาควรจะได้มีเท่าไหร่ขายเอาเงินส่งเรียน ที่ประชุมญาติไม่ขัดแต่สถานที่เรียนมันอยู่ในเมือง ญาติพี่น้องในเมืองไม่มี เป้าหมายก็คือวัด พี่ชายไปฝากไว้กับพระที่วัดเสนาสนาราม หัวรอ อยุธยา
ชีวิตไกลบ้านห่างพ่อแม่ครั้งแรก คิดถึงบ้านนอนร้องไห้ทุกคืน ชีวิตเด็กวัดที่นี่คล้ายกับค่ายทหาร เด็กวัดประมาณ ๓๐ คนมีกฎระเบียบวินัยเคร่งครัด มีระบบอาวุโส รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ แบ่งหน้าที่การงานเป็นทีม เช่น ๑.ทีมทำอาหาร (เด็กวัดที่นี่ต้องทำอาหารทาน ไม่ได้อาศัยอาหารจากพระ ผมปรุงอาหารเป็นก็เพราะที่นี่) ๒.ทีมบิณฑบาต กิจของพระคือการรับบิณฑบาต โดยทางเรือ ตามลำน้ำป่าสักแม่น้ำใหญ่ เป็นเรือ ๓ ฝีพาย พระนั่งกลาง ใช้เวลาพายรับบิณฑบาต ๑ ชม.ครึ่ง (เรือเคยโดนคลื่นล่ม ๑ ครั้ง ตัวใครตัวมัน โชคดีไม่มีใครตาย) ๓.ทีมโยธา มีหน้าที่ตัดหญ้า ทาสี ทำสะอาดต่างๆแล้วแต่พระจะสั่ง สามทีมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ตกค่ำ ๑ทุ่มทุกคนต้องมานั่งทบทวนบทเรียน ท่องหนังสือ ทำการบ้าน ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ๒ทุ่มครึ่งหมดเวลาทบทวน ทุกคนสวดมนต์เหมือนพระทำวัตรเย็น ๓ทุ่มเข้านอน มีหอนอนรวมกัน ตีห้าครึ่งจะมีหัวหน้าตะโกน ตื่นๆๆ ทุกคนต้องตื่นเก็บที่นอนเพื่อทำกิจตามหน้าที่ๆรับมอบหมาย แล้วไปเรียนหนังสือ ชีวิตที่วัดเป็นระบบ ระเบียบ แบบเดียวกับทหารตำรวจ เป็นการสร้างวินัย เคารพระบบอาวุโส
ที่วัดแห่งนี้ทำให้ได้เพื่อนหลายคนล้วนจบ ป.๔ กำลังหาที่เรียนต่อ เพื่อนไปสมัครสอบที่ไหนผมไปด้วย สอบติดโรงเรียนประจำจังหวัดชาย อยุธยาวิทยาลัย ม.๑ ถึง ม.๖ จบจากที่นี่ ชั้น ม.๖ เป็นประโยคหลัก ใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งจังหวัด ดันสอบได้ที่ ๑ ของจังหวัด
จบ ม.๖ ยุ่งอีกแล้ว จะไปเรียนต่อที่ไหนดีเพื่อหนีการทำนา พอดีมีรุ่นพี่นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัยซึ่งสำเร็จการศึกษาไปแล้วกลับมาเยี่ยมโรงเรียน พี่เหมราช ธารีไทย แต่งเครื่องแบบนักเรียนเตรียมทหารมาเลย มันโก้โดนใจ จะต้องเอาอย่างพี่เหมราชฯนี่แหละ จากนั้นหาข้อมูล ไปสมัครกันที่ไหน วุฒิอะไร ได้รับข้อมูลแล้วท้อ โรงเรียนเตรียมทหารสมัยนั้นยังอยู่ที่ถนนราชดำเนิน เชิงสะพานมัฆวาฬ กรุงเทพฯ การสอบเข้าแข่งขันกันหนักมาก บางคนให้ข้อมูลว่า ต้องวิ่งเต้นเสียเงิน ต้องมีเส้นสาย พ่อแม่ญาติพี่น้องทำนา ไม่มีเส้น ไม่มีเงิน กรุงเทพฯก็ยังไม่เคยไป แต่ในใจบอก “สู้โว๊ย” กลับไปตั้งหลักที่บ้านเพื่อหาช่องทางส่งต่อเข้ากรุงเทพฯ ได้เรื่อง คนบางปะหัน บางเดียวกัน ไปบวชอยู่ที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน นั่งเรือกลไฟจาก อ.มหาราชมุ่งปลายทางท่าเตียน กรุงเทพฯ ใช้เวลาประมาณ ๑๕ ชั่วโมง เรือวิ่งตั่งแต่บ่ายต่อเนื่องตลอดทั้งคืน นอนไม่หลับเสียงเครื่องยนต์เรือดังบรม เรือสั่นไปทั้งลำ เวลากลางคืนคนเรือจะเอาม่านผ้าใบคลุมปิดเรือ ด้วยความอยากรู้ กลางดึกแหวกผ้าใบดูสองฟากแม่น้ำ โอ้โฮ.. มองไม่เห็นฝั่ง เห็นแต่แสงไฟลิบๆ สอบถามเด็กประจำเรือบอกว่า ถึง “ลานเท” เป็นส่วนที่กว้างที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร มีคลื่นลมแรงมาก เด็กคุยต่ออีก “บริเวณนี้ลมแรงเพราะสองฟากฝั่งเป็นทุกโล่ง ไม่มีสิ่งกั้นบังลมและเป็นที่บรรจบของ แม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดน้ำวน มีเรือล่มคนตายเป็นประจำ” นึกในใจทำไมมรึงต้องบอกกรูด้วยว๊ะ มองหาชูชีพสักอันก็ไม่มี ผู้โดยสารอื่นหลับกันหมดอาจเป็นเพราะเดินทางจนเคยชิน ส่วนเราเดินทางครั้งแรกใจเต้นระทึกนอนไม่หลับ เสียงเครื่องยนต์ครางปะทะเสียงลมหวาดหวิว เหมือนเสียงโหยหวนของผู้หญิงที่เรือล่มจมน้ำขอความช่วยเหลือ ดีที่สุดตอนนั้นคือร้องเพลง ลานเท ของชรินทร์ นันทนาคร “มาตามสายชล กว้างจนสุดเหลือคะเน สองฝั่งลำน้ำลานเท คลื่นลมรวนเรดังเล่ห์น้ำใจ....” บรรยากาศมันเข้ากันพอดี ร้องอยู่ในใจจนหลับ
มาตื่นเอาตอนที่คนเรือเอาม่านขึ้น ตะวันทอแสงยามเช้าสวยงาม กระทบพระปรางค์วัดอรุณและอีกหลายๆวัดริมน้ำ จนกระทั่งพระบรมมหาราชวัง เรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเตียน จากนั้นพี่ชายที่มาส่งนำพาไปขึ้นรถสามล้อถีบ บรรทุกข้าวสารที่หิ้วมาจากบ้าน ๑ กระสอบ ชะลอมใส่เสื้อผ้าอีก ๑ ใบ มุ่งสู่วัดโพธิ์ ได้เป็นเด็กวัดอีกครั้ง
*พูดถึงชะลอม ผมอายจริงๆ สมัยนั้นถ้าอยู่ต่างจังหวัดเข้าเมืองจะถูกเรียก ไอ้บ้านนอก เพราะจะหิ้วชะลอมใส่เสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแทนกระเป๋าเดินทาง แต่คราวที่มีการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯที่เพิ่งผ่านไป ใช้ชะลอมเป็นสัญลักษณ์ ไม่มีใครเอ่ยว่าเป็นบ้านนอก
ชีวิตในกรุงเทพฯตื่นเต้นมาก รถยนต์วิ่งขวักไขว่ ตึกสูงๆมากมาย ไม่มีควายไม่มีทุ่งนา ยามว่างจะนั่งรถรางสาย ท่าเตียน-ถนนตก ไปสุดทางแล้วนั่งกลับ เพราะจะสุดทางที่วัดพอดี (ไม่หลง) นานวันเริ่มฉลาด เห็นป้ายประกาศกวดวิชาเข้าเรียนเตรียมทหาร สมัครเรียนทันที เพื่อนๆที่กวดวิชาพากันไปสมัครสอบ รอบแรกตรวจโรคผ่าน รอบสองสอบพละ วิ่ง ว่ายน้ำ ไต่เชือกผ่านอีก *รอบสุดท้ายข้อเขียน ไม่มีชื่อ เอ๊ะๆๆ ตาเราฝาดไปหรือ จนท.พิมพ์ชื่อตก พยายามเดินดูป้ายประกาศหลายที่ไม่มีชื่อ อกหักครั้งแรก คอตกกลับไปนอนมือก่ายหน้าผากที่วัด หรือว่าดวงเราจะต้องกลับไปทำนา
เพื่อนเด็กวัดให้กำลังใจชวนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม (สมัยนั้น พ.ศ.๒๕๐๓ เรียกเตรียมจุฬา) ไปสอบเป็นเพื่อน ตัวเราติดแต่เพื่อนที่ชวนเราไปตก
จบเตรียมอุดมฯสมัยนั้นเรียก ม.๘ *กรมตำรวจเปลี่ยนใจเปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยโดยตรงแทนที่จะรับจากโรงเรียนเตรียมทหาร ใช้วุฒิ ม.๘ (ราวกับมีฟ้าประกาศิต เพราะหลังจากปีนั้นก็กลับไปรับจากโรงเรียนเตรียมทหารตามเดิม จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้)
ดีใจมากอยากเป็นตำรวจอยู่แล้ว จะต้องสอบเข้าให้ได้ ไม่กล้าบอกใครอายเขา ถามเด็กวัดด้วยกันว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจอยู่ที่ไหน ดอดไปถึงที่เลย สามพราน นครปฐม ใหญ่โตมาก เดินลัดเลาะริมรั้วกำแพงเข้าไปไม่ได้ เจอยามแต่งเครื่องแบบยืนถือปืน ผมยกมือไหว้บอกว่าจะมาสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ สมัครที่ไหนครับ ยามมองดู (คงสมเพช) โน่น รับสมัครที่กองอำนวยการศึกษา กรุงเทพฯ โธ่ๆๆ ดันถ่อมาซะไกลเลยเรา
ที่สุดก็สมัครได้ สอบเข้าได้อันดับที่ ๓๐ จำนวนที่รับ ๗๕ คน ผู้สมัครสอบสามพันกว่า เรียน ๔ ปีจบ ติดยศร้อยตำรวจตรี อย่างนี้บ้านนอกเรียกว่า “มาด้วยลำแข้ง”
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์