เวรกรรมมีจริง
จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจปี พ.ศ.2509 ฝึกงานในนครบาล 1 ปี คดีในนครบาลไม่ค่อยหวือหวา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคดีอุบัติเหตุจราจร คดีความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค คดีลักทรัพย์ คดีใหญ่ๆอุกฉกรรจ์ ปล้น ฆ่า ฯลฯ สารวัตรฯจะทำเอง ได้ฝึกการเขียนสำนวน ทำหน้าที่เป็นผู้จดอ่าน (สมัยนั้นสำนวนใช้การเขียน แบบเรียงความ ไม่ใช่แบบถามตอบ) การฝึกงานเป็นช่วงที่จดจำ สำเนาสำนวนคดีต่างๆไว้เป็นต้นแบบ แยกแยะได้อะไรดียึดเป็นแบบ อะไรที่เห็นว่าไม่เข้าท่าก็ไม่เอา
*แบบอย่างการเขียนสำนวนได้จากอาจารย์สนั่น ตู้จินดา สั้น กะทัดรัด สำนวนรัดกุม (ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาการทำสำนวนการสอบสวนด้วย)
*เรื่องมาด การเคลื่อนไหวเมื่อแต่งเครื่องแบบ การเดิน การนั่ง ได้แบบอย่างจากพี่ชุมพล อัตถศาสตร์ เครื่องแบบต้องพอดี ไม่หลวมไม่รัดเกินไป เข้าเวรติดสายแดงต้องใส่รองเท้าคอมแบท ยัดท๊อป ใส่ห่วงข้อเท้าแบบมีลูกปืน เดินไปไหนคนมองตามเพราะมีเสียงดัง แซ็กๆ ตามจังหวะการเดิน ชอบมากตอนที่ออกเวรกะบ่าย 18.00 น. ท่านจะชวน นร.ฝึกงานไปเดินเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ ใช้วิธีเดิน ไปทั้งเครื่องแบบชุดเข้าเวร (ฝึกงาน สน.พระราชวัง พื้นที่ไม่กว้าง แต่ชุมชนร้านค้าหนาแน่น) ที่ไปเดินด้วยกันมี ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช, นิพนธ์ ประพุทธนิติสานต์ (นิพนธ์ฯเป็น นร.อบรม รักกันมาก *เสียชีวิตไปแล้ว) ท่านชุมพลฯพาเดินผ่านไปทางบ้านหม้อ ไปวังบูรพา ย่านเฉลิมกรุง ทักทายผู้คนไปเรื่อยๆ ท่านรู้จักคนในพื้นที่มากจริงๆ
*ปี 2510 - 2513 ย้ายไปภูธร การทำงานของภูธรต่างกับนครบาล คือที่ภูธรต้องแบบถึงลูกถึงคน โจรเยอะ ยาเสพติดมาก *ต้องเชือดไก่สอนลิง อยู่กับหัวหน้าสถานี (ผู้บังคับกอง เปลี่ยนถึง 4 คน) การทำงานของแต่ละผู้กองคนละรูปแบบ ไม่เหมือนกัน กรมตำรวจสมัยนั้นคัดเอาแต่ผู้มีฝีมือเด็ดๆไปเป็นหัวหน้าที่นั่น ผลงานของผู้กองแต่ละคนต้องเรียกระดับ พระกาฬ ปราบแบบขุดรากถอนโคน โดนร้องเรียนแทบทุกคนแต่ข้างบนรู้เพราะส่งไปเอง พอโดนร้องมากๆก็เปลี่ยนคนใหม่ คัดเอาเก่งหนักลงไปแทน
*ปราบแก๊งโจรลักรถ ปล้นรถบรรทุก 10 ล้อที่บรรทุกสินค้า สถิติเดือนหนึ่งๆเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 คดี ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี ตำรวจไม่เคยสืบจับคนร้ายได้ รถก็ไม่ได้คืน ผู้ประกอบการรถบรรทุกเดือดร้อน ไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ใช้วิธีติดต่อขอไถ่รถได้ผลมากกว่า โดยจะมีบุคคลผู้มีอิทธิพลรับเป็นตัวกลางเจรจา รถยนต์ 10 ล้อคันหนึ่งราคาไถ่คืนตก 30,000.- ถึง 50,000.- บาท (ได้แต่ตัวรถเปล่าๆ สินค้าที่บรรทุกไปกับรถไม่ได้คืน) ผู้กองสวมรอยไปกับพวกเจ้าของรถผู้เสียหาย เข้าร่วมเจรจาขอไถ่รถ พอได้รถคืนกลุ่มคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีรับเจรจาไถ่รถ ตาย ทุกราย โดนยิงในลักษณะต่างๆกัน เป็นคดีไม่ทราบตัวคนร้าย คนรับไถ่ถอนรถเป็นศพไปประมาณ 3 ราย โดยเฉพาะคนที่ตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อตายแบบศพน่าเกลียด ถูก M 16 พรุนทั้งร่าง ต่อมาคดีลักรถ,ปล้นรถบรรทุกเรียกค่าไถ่ก็หายไป
*ปราบผู้ค้ายาเสพติด พื้นที่นี้การค้ายาเสพติดมากเป็นระดับต้นๆของประเทศ ผู้กองคนนี้ใช้กฎหมายอันธพาล ใครค้ายาเสพติดจะถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลอันธพาล ดำรงชีพอยู่ด้วยการกระทำผิดกฎหมาย (ค้ายาเสพติด) เมื่อผู้มีชื่อในบัญชีฯได้กระทำผิด จะถูกเสนอชื่อต่อคณะกรรมการฯ ขังที่สถานี 30 วัน (ตามกฎหมายอันธพาล) ผลปรากฏว่าผู้ต้องหาแน่นห้องขัง ผู้กองเปลี่ยนวิธีใหม่ พอขังครบ 30 วันทำเรื่องเสนอคณะกรรมการฯ ขอปล่อย พวกที่ถูกปล่อยค่อยทยอยตาย พบเป็นศพถูกยิงเสียชีวิตกลางป่า กลางไร่อ้อย พวกที่มีประวัติค้ายาเสพติดที่ยังมีชีวิตอยู่เริ่มย้ายถิ่นฐานไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด จากนั้นการค้ายาเสพติดเริ่มเบาบางลง แต่ก็ยังไม่หมดไป
*ปราบเจ้ามือสลากกินรวบ สมัยนั้นใครมีประวัติเป็นคนรับซื้อสลากกินรวบจะถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลอันธพาล ผู้กระทำผิดประเภทนี้จับยาก ตรวจค้นกี่ครั้งก็ไม่ได้หลักฐาน ผู้กองให้สายสืบจัดทำบัญชีที่อยู่เจ้ามือ แล้วจัดหาคนกล้าตายไปซื้อหวยจากเจ้ามือ เมื่อได้โพยมาแล้วก็ยัดโพยไว้ในบ้านคนขายตามจุดต่างๆที่เจ้าของบ้านนึกไม่ถึง แล้วชุดจับกุมก็ถือหมายเข้าไปตรวจค้น เจ้ามือย่ามใจคิดว่าค้นยังไงๆก็ไม่เจอเพราะหลังบ้านมีเตาอั้งโล่ติดไฟไว้ โพยถูกเผาเป็นขี้เถ้าหมด แต่ตำรวจชุดของผู้กองค้นเจอเพราะรู้ว่าคนซื้อทิ้งโพยไว้ที่ไหน ผลเจ้ามือโดนขัง 30 วัน เข็ดและเลิกไปหลายราย (ปัจจุบันซื้อ ขาย on line ไม่มีใครสนใจ ตำรวจก็เล่นกันเยอะ)
*สมัยนั้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ วันหนึ่งขณะที่ผมทำหน้าที่เป็นร้อยเวร ผู้ใหญ่บ้านพร้อมตำรวจสายตรวจตำบลและชาวบ้านประมาณ 10 คน จับชายผู้หนึ่งมัดแขนไพล่หลัง ตามเนื้อตัวมีรอยฟกช้ำ ผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่าผู้ถูกจับลักควาย ผู้เสียหายและพยานก็มาด้วย เมื่อมาพร้อมเช่นนี้ก็สอบสวนเลย สอบผู้ต้องหาต่อหน้าผู้จับกุมและพยาน ผู้ต้องหารับสารภาพ ตั้งข้อหาลักทรัพย์บทหนักเพราะเป็นการลักสัตว์ที่เป็นพาหนะที่ใช้ในการกสิกรรม ตามหาของกลางไม่ได้ผู้ต้องหาบอกว่าขายต่อให้กับผู้ซื้อต่างถิ่นไม่ทราบที่อยู่ (สมัยก่อนสำนวนการสอบสวนง่ายๆ ไม่เคร่งครัด) รายนี้ส่งฟ้องศาล เข้าใจว่ารับสารภาพชั้นศาลเพราะผมไม่ได้รับหมายเรียกไปเป็นพยาน *แต่จุดไคล์แมกซ์อยู่ตรงนี้ อีกไม่กี่ปีต่อมาหลังจากที่ผมย้ายไปแล้ว ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ถูกยิงตาย มีพรายกระซิบบอกผม ไอ้คนที่ถูกผู้ใหญ่จับพ้นโทษออกจากคุก มันมาเอาคืน (นี่ไง เวรกรรมมีจริงมันต้องมีอะไรแอบแฝงในการจับกุมครั้งนั้นแน่ๆ จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า คนที่ถูกลงโทษได้กระทำผิดจริงหรือไม่)
*คดีลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนเกิดขึ้นมาก ฝ่ายสืบสวนถูกเร่งรัด ปกติคดีลักษณะนี้สืบจับคนร้ายยาก แต่มีคดีหนึ่งสายสืบลูกน้องจับกุมคนร้ายได้ พร้อมอุปกรณ์ที่ใช้งัดแงะเป็นไขควงอันใหญ่ ผู้ต้องหารับสารภาพ นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับ ตรวจสอบรอยงัดในที่เกิดเหตุเข้ากับขนาดไขควงพอดี ส่งฟ้องศาล รับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 6 เดือน หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จ ผู้พิพากษาลงจากบัลลังก์ จำเลยผู้นี้ตะโกนเสียงดัง กูไม่ได้ทำผิด มาสั่งขังกู และถ้อยคำหยาบคายอื่นอีก ตำรวจคุมจำเลยสั่งให้หยุดกล่าว ผู้พิพากษากลับนั่งบัลลังก์ใหม่และสั่งเพิ่มโทษฐานหมิ่นอำนาจศาลอีก 6 เดือน *ผมข้องใจมาก เรียกลูกน้องผู้จับมาซักถาม ได้ความว่า จริงๆแล้วจำเลยติดยาเสพติดและถูกจับกุมได้พร้อมยาเสพติดจำนวนมาก ขอต่อรองเปลี่ยนข้อหา ลูกน้องทราบดีว่ามีคดีลักทรัพย์เกิดขึ้นหลายราย เลยจับยัดเข้าไปรายหนึ่ง จำเลยคิดว่าโทษคงเบากว่ายาเสพติดก็เลยตกลง (เวรกรรมมีจริง ต่อมาสายสืบคนก็ถูกคนร้ายลอบยิงตาย ยังจับกุมคนร้ายไม่ได้)
*คดีฆ่าคนตาย เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ผู้กองทำคดีเองแต่ผมเป็นร้อยเวรต้องไปด้วย เหตุเกิดที่โรงสีข้าวขนาดใหญ่ มีคนงานหลายสิบคน ผู้ตายเป็นชายกรรมกรแบกข้าวสาร นอนตายที่ริมรั้วด้านนอกโรงสี สภาพศพ ผู้ตายนุ่งกางเกงขาสั้นไม่สวมเสื้อ มีบาดแผลถูกของมีคมที่ลำคอเพียงแห่งเดียว เป็นทางยาวลึกถึงหลอดลม สอบถามได้ความว่าหลังเลิกงานผู้ตายกับกรรมกรอื่นรวม 5 คนล้อมวงกินเหล้า ผู้กองเรียกทุกคนที่ร่วมกินเหล้ากับผู้ตายมาสอบ ณ ที่เกิดเหตุ ทุกคนรับว่านั่งดื่มเหล้าด้วยกันจริงแต่ทุกคนอ้างว่ากลับไปก่อน ผู้ตายยังนั่งดื่มอยู่คนเดียว ผู้กองดูบาดแผลที่คอผู้ตายแล้วลงความเห็นว่าถูก ตะกาว (เหล็กตะขอที่กรรมกรใช้เกี่ยวกระสอบข้าวสารแล้วแบกใส่บ่า) ผู้กองเรียกกรรมกรที่ร่วมดื่มเหล้ากับผู้ตายเอาตะกาวมาให้ตรวจ ให้ผมทำป้ายกำกับอันไหนของใคร ยึดเป็นของกลางส่งไปตรวจพิสูจน์ *ผู้กองใช้ความไวขณะที่ไม่มีใครสนใจ เอาปลายตะกาวอันหนึ่งจิ้มไปที่บาดแผลศพ สายตาผมไวกว่าเห็นแต่แกล้งทำเฉย หลังจากส่งตะกาวของกลางไปตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐาน ผู้กองออกหมายจับเจ้าของตะกาวที่กองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าพบคราบโลหิตผู้ตาย คดีขึ้นสู่ศาล ผมไม่ได้ติดตามผลคดี จากนั้นผมย้ายเข้านครบาล ผู้กองก็ย้ายไปจังหวัดอื่น ต่อมาทราบข่าวว่าผู้กองท่านนี้ได้รับอุบัติเหตุ ขับรถหลับในชนต้นไม้ข้างทางถึงแก่ความตาย (เวรกรรมตามสนอง)
การทำงานของตำรวจสมัยก่อนไม่ค่อยรอบคอบรัดกุมและไม่ค่อยแสวงหาความจริงเพื่อพิสูจน์ความผิด แต่ทุกคนก็ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมและองค์กร เพื่อรักษาความสงบสุขให้กับสุจริตชนและเพื่อลดอาชญากรรมทั้งสิ้น
*ขอรำลึกถึงอดีตผู้บังคับกอง ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้และประสบการณ์การทำงาน ด้วยความเคารพยิ่ง
1. ท่าน จำลอง จันทรคำ
2. ท่าน สุนทร เพ็ญศศิธร
3. ท่าน มาโนช รัตนวิลัย
4. ท่าน บุญมี เสือเอี่ยม
5. ท่าน โกวิทย์ สุทธิบุตร