คุณค่าไม้เรียวหรือตัณหาครูโหด
ครูจุ๋มสารสาร์ท จุดไฟแค้นให้ผมย้อนอารมณ์ไปเมื่อปี พศ.๒๔๙๔ เมื่อชีวิตต้องเลือก เปลี่ยนเส้นทางจากอาชีพบรรพบุรุษคือการทำนา ทิ้งคันไถ ไปขุดทองเอาข้างหน้า เป็นหรือตายยังไงไม่รู้ แต่เรื่องทำนาพอกันทีเหนื่อยโคตร ยามนั้นต้องอาศัยวัด ไม่มีอพาตเม้นท์หรือบ้านเช่า ที่วัดมีกฎระเบียบเพราะอยู่กันจำนวนมากเกือบ ๓๐ คน ล้วนแต่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนทั้งนั้น ห่างไกลพ่อแม่พี่น้อง ท่ามกลางคนแปลกหน้า มีแต่คำว่า เด็กใหม่กับคนเก่า มาใหม่ต้องยอมทุกเรื่อง หือไม่ได้ สั่งอะไรต้องทำ ไม่มีคนปลอบให้กำลังใจ กลางคืนนอนร้องไห้ กัดฟันทน กลับก็อายชาวบ้าน ชีวิตเด็กวัดสอนให้แกร่ง สู้เพื่อเอาตัวรอด กัดฟันทน อยู่เป็นปีก็เริ่มเป็นขาใหญ่ ชีวิตเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ใครเก่งใครแน่กว่าก็ได้ไป หมัดรุ่นๆแบบมวยวัดเริ่มที่นี่ ชกต่อยกันที่ไรเจ็บทุกที เจ็บปวดก็เก็บอาการ อึดเข้าไว้ ยืนได้นานกว่าก็ชนะ นานวันเริ่มมีคนเข้ามาเป็นลูกน้อง ลูกพี่ต้องคอยปกป้อง แล้วศึกระหว่างลูกพี่กับลูกพี่ก็เข้าประหัตกัน ขอบตาเขียว ฟันหัก เลือดกรบปากทั้งสองฝ่าย รู้ถึงเจ้าสำนักเรียกไปทำโทษทั้งคู่ ได้ลิ้มรสหวายเป็นครั้งแรก โดนไปคนละ ๖ ที เสียงหวายแหวกอากาศวื้ด..กระทบเนื้อโคนขาพับ เจ็บแปร๊บไปทั่วประสาทร่าง น้ำตาไหลออกมาเองแต่ไม่ร้องไห้ ร่องรอยเป็นปื้นที่ผิวหนัง ไม่กี่วันแผลก็หายแต่แผลที่ใจยากลืมเลือน
โดนหวดแล้วใช่จะหลาบจำ กลับทำให้กร้าน ห้าว สร้างบารมีความเป็นขาใหญ่ กร้าวหนักขึ้น ใครมาเอาเปรียบรังแกลูกน้อง เอากำปั้นยัดใส่หน้ามันทันที หวายที่เจ้าอาวาสใช้หวดขาหักสะบั้น ไม่เจ็บเพราะใจมันด้านชา
ความเป็นนักสู้ ความแกร่ง ถูกสร้างขึ้นที่นี่ ไม่พอใจกันออกมาเลย ซัดกันด้วยหมัดรุ่นๆ แพ้แล้วอย่าหือ ไม่นานก็เป็นขาใหญ่แต่ไม่เคยรังแกใคร และที่นี่ยังถูกปลูกฝังระเบียบวินัย มีการจัดเวรแบ่งหน้าที่การงาน เลือกคนเป็นหัวหน้า ทุกอย่างต้องทำตามตารางเวลาเป๊ะๆแบบทหาร
เป็นเด็กวัดเรื่องชกต่อยระหว่างเด็กวัดด้วยกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พระเจ้าสำนักเรียกไปหวดไม่ถามเหตุก่อน นี่ซิมันแค้น ไม่มีโอกาสชี้แจง หวดอย่างเดียว ถ้าหวายหักมีเตะตบแทน เคยคิดแค้น ฝากไว้ สักวันจะต้องกลับมาเอาคืน
*ด้านการเรียน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ สอบแข่งขันเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด เป็นการแข่งขันครั้งแรกในชีวิต คนสมัครสอบเท่าไหร่ไม่สนใจ ไม่มีเส้นอยู่แล้ว ถ้าสอบเข้าไม่ได้ก็กลับไปทำนา โชคดีสอบได้ *ปัญหาที่ไม่คาดฝันเกิด โรงเรียนอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๔ กม. ใช้เวลาเดินประมาณ ๑ ชั่วโมง สมัยนั้นไม่มีรถยนต์ประจำทาง มีแต่สามล้อถีบซึ่งก็ไม่ได้เร็วกว่าเดินเท่าไร โรงเรียนเข้า ๐๘.๓๐ น. ทุกคนต้องไปยืนรวมเคารพธงชาติที่หน้าเสาธง แยกเป็นชั้นๆ มีการตรวจยอดคนมา คนขาด พอ ๐๘.๓๐ น.ร่วมร้องเพลงชาติ ชักธงขึ้นเสา ครูจะผลัดเปลี่ยนกันยืนพูดหน้าเสาธงแล้วทุกคนเดินแถวเข้าห้องเรียน *ใครมาสายจะมีครูเวรคอยดักพร้อมไม้เรียว หวดก้นไปคนละที เรื่องหวดก้นนี่สบาย จะเตรียมเอาสมุดยัดใส่ไว้ในกางเกงก่อน ค่อยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ (ครูบางคนยังฉลาดน้อย)
เด็กวัดอยู่รวมกันมาก จึงต้องมีการแบ่งกันทำหน้าที่ เป็น ๓ เวร
๑.ทำอาหาร (กลุ่มนี้ต้องหุงข้าว จ่ายอาหารมาทำกับข้าว ให้เด็กวัดคนอื่นๆทานประมาณ ๓๐ คน)
๒.งานโยธา (กลุ่มนี้จะทำความสะอาดต่างๆแล้วแต่พระจะสั่ง เช่น ตัด ถาง หญ้า ทำสะอาดขัดล้างสีกำแพง รั้ว) มีงานให้ทำตลอด
๓.งานพายเรือให้พระนั่งรับบิณฑบาต งานนี้โหดมาก เรือที่ใช้เป็นเรือใหญ่ พายหัว ๒ ฝีพาย คัดท้าย๑ พระนั่งกลางคอยรับของถวายจากญาติโยม พายไปตามลำน้ำป่าสัก ลพบุรี ซึ่งลำน้ำกว้างกว่า ๕๐ เมตร ช่วงพายทวนน้ำเหนื่อยเอาการ บางครั้งเจอคลื่นจากเรือใหญ่ เคยเรือล่ม ตัวใครตัวมันเกือบชีวิตไม่รอด ญาติโยมบางคนลงมาใส่บาตรสาย ด่าในใจเพราะรู้ว่าจะต้องเข้าเรียนสายแน่ๆ ออกเรือประมาณ ๐๖.๐๐ กลับเข้าฝั่งประมาณ ๐๘.๐๐ จัดสำรับให้พระแล้วเดินบ้าง วิ่งบ้างไปโรงเรียน ข้าวเช้าไม่ต้องกิน แต่ฉลาดจิ๊กของใส่บาตรแอบกินระหว่างเดินทาง น้อยครั้งที่จะทัน ๐๘.๓๐ นั่นก็คือถูกครูเวรเฆี่ยน สรุป ๓ สัปดาห์ที โดนเฆี่ยนประมาณ ๕ ครั้ง
การเฆี่ยนไม่ได้สร้างความหลาบจำ เพราะมันมีเหตุจำเป็น ครูเวรก็ไม่เคยถามเพราะคงเบื่อฟังคำแก้ตัว หารู้ไม่ว่า ความเจ็บปวดจากการเฆี่ยนแต่ละครั้งสร้างความแข็งแกร่งเป็นร้อยเท่าทวีคูณ (กรูจะต้องเป็นให้สูงกว่ามรึงให้ได้ แล้ววันนั้นกรูจะมาคุยกับมรึง)
*ไม่มีครูใดที่โหดเท่าครูสอนการทำฝีมือ ความที่รีบไปโรงเรียนทำให้ลืมอุปกรณ์การทำฝีมือ โดนตรวจ ใครลืมอุปกรณ์ออกไปยืนหน้าชั้น ครูสมัยเก่านี่แปลก ไม่ฟังเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ครูสอนการทำฝีมือเก๋ามาก พวกเราเอาสมุดสอดใต้กางเกง (เคยหลอกครูเวรได้) สำหรับครูการฝีมือไม่สำเร็จ แกหวดที่น่อง โคตรเจ็บ น่องเป็นผื่นแดง เคารพความเป็นครูเลยยอม (ถ้าไม่ใช่ครูโดนสวนด้วยหมัดแน่นอน)
*ครูสอนการฝีมือได้ชื่อว่าเป็นจอมโหด เฆี่ยนน่องเด็กเป็นประจำ เคืองมาจนถึงปัจจุบัน มีโอกาสก็คอยสอบถามถึงครูคนนี้อยู่เสมอ ในที่สุดก็ได้ข่าวว่าถูกแทงตาย โดนแทงซ้ำหลายๆแผลด้วย พวกเด็กที่เคยถูกตีไม่มีใครเศร้ามีแต่สมน้ำหน้า
*เรื่องนึงที่เคยถูกครูทำร้ายแล้วอภัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจำวันเดือนปีได้ แต่ชื่อครูจำได้ไม่ลืม ขณะเข้าแถวรอเคารพธงชาติ เพลงชาติยังไม่ขึ้น ธงชาติรอชักขึ้นสู่ยอดเสา หันไปคุยกับเพื่อนข้างๆ ทันใดนั้นฝ่ามืออันใหญ่เทอะของผู้อำนวยการก็ฟาดลงที่ใบหน้า ดังฉาด ใบหน้าชาไปทั้งแถบ เนื้อที่แก้มสั่นระริก เจ็บก็ส่วนหนึ่งแต่ความอับอายมากกว่า น้ำตาซึมตกใน กลับมานอนร้องไห้คนเดียวอยู่หลายคืน ในชีวิตมี ผอ.โรงเรียนผู้นี้คนเดียวที่ตบหน้าเรา
*ปี พ.ศ.๒๕๐๕ สอบเข้านักเรียนนายร้อยตำรวจได้ ดีใจฉลองกับเพื่อนๆจนเกือบไม่ได้นอนทั้งคืน รุ่งขึ้นส่งตัวเข้าโรงเรียน รถบัสรับที่ข้างศาลาเฉลิมกรุง อาหารเช้ายังไม่ได้ตกถึงท้อง ประมาณ ๑๐.๐๐ น.รถที่รับเดินทางถึงเชิงสะพานโพธิ์แก้ว สมัยนั้นสิ่งปลูกสร้างยังไม่มี เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าป่ารกและคูน้ำ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนักเรียนรุ่นพี่ วิ่ง หมอบ คลาน ม้วนหน้า ม้วนหลัง เดินม้า เดินช้าง เดินมด ทำสารพัด ตลอดเส้นทาง ๘ กม.ถึงโรงเรียน เป็นการทดสอบการปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่มีการสัมผัสตัว ๔ ปีในรั้วสามพรานสอนให้มีความอดกลั้น อดทน โดยเฉพาะอดทนต่อความเจ็บใจ คำตอบและความเข้าใจต่างๆเข้ามาเองเมื่อตัวเรามาอยู่ปีสุดท้าย ต้องฝึกต้องสอนรุ่นน้องๆ ให้ดำรงตนมีเกียรติ รักศักดิ์ศรี ไม่มีความเคียดแค้นถือโกรธต่อกัน รักใคร่สามัคคีกัน จากรุ่นสู่รุ่น ตลอดไป
*จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า ครูและพระ เอาอำนาจอะไรมาทำร้าย พ่อแม่และพี่ๆไม่เคยทำร้ายเรา ความเจ็บ ความแค้น ความรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล ไม่เป็นธรรม เป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้กัดฟันสู้ อดทน กะว่าสักวันจะไปทวงคืน เวลาทำให้อารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนแปลง ลืมความเจ็บความแค้น กลายเป็นความสำเร็จ จนกระทั่งครูจุ๋มมากระตุ้นให้นึกถึง *ทุกคนที่เคยทำไม่ดีกับเราตายไปหมดแล้ว ขออโหสิเลิกแล้วต่อกัน.
*ขยายความท้ายเรื่อง
-วัดที่สอนให้กร้านและแกร่งคือ วัดเสนาสนาราม อยุธยา
-โรงเรียนที่ฝากรอยเจ็บที่ ก้น น่อง และใบหน้าคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย