บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
โชคดีที่ได้เป็นตำรวจ
หน้าหลัก ›› บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง ›› โชคดีที่ได้เป็นตำรวจ
การเป็นตำรวจไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือว่าผีจับยัด ขนาดตั้งใจยังเกือบพลาด น้องๆที่เป็นอยู่จงภาคภูมิใจ เหมือนตำรวจรุ่นพี่ที่แก่ๆทุกคน ต่างรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยามที่บ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจจากโรคระบาด ผู้คนตกงานยากจน แต่พวกเรารับเงินเสมอต้นเสมอปลาย และไหนจะเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย บริการอย่างดีและฟรีด้วย ขอให้ตำรวจรุ่นน้องจงมีจิตใจรักในหน่วยงาน ตอบแทนคุณโดยการให้บริการให้ความเป็นธรรมและดูแลทุกข์สุขประชาชนให้เต็มที่ เป็นความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเมื่อท่านเกษียณแล้ว สำนักงานตำรวจฯจะดูแลท่าน
ทุกคนที่จะมาเป็นตำรวจย่อมมีเหตุจูงใจ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2491-92-93 ผมอายุประมาณ 5-6 ขวบ ที่ อ.บางปะหันเขตติดต่อ อ.มหาราช อยุธยา โจรผู้ร้ายชุกชุมมาก ลักและปล้นเอาเครื่องมือทำมาหากินของชาวนา คือ วัว ควาย เป้าหมายของคนร้ายคือส่งโรงเชือด เพื่อนบ้านหลายคนโดนแต่บ้านผมรอด โจรในหมู่บ้านผมก็ไม่น้อยหน้า ยกพวกไปปล้นหมู่บ้านอื่น มึงปล้นกู กูปล้นมึง มีครั้งหนึ่งฮือฮามาก โจรในหมู่บ้านผมไปปล้นที่ไหนมาไม่ทราบ ก่อนสว่างกลับมาพร้อมผ้าขาวม้าห่อของ มีเลือดหยดเป็นทาง ได้ความว่าพรรคพวกที่ไปปล้นถูกเจ้าทรัพย์ยิงเสียชีวิต จึงต้องตัดหัวห่อผ้าขาวม้าเอามาฝัง ตำรวจสมัยนั้นถ้าไม่มีใบหน้าให้ดูก็ไม่รู้เป็นใคร สืบไม่ออก ชาวบ้านเดือดร้อน นอนตาไม่หลับ ใกล้พลบค่ำต้อนวัว ควายเข้าคอก ตอกลิ่มลงกลอนคอกแน่นหนา
ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน โจรผู้ร้ายชุกชุม วันหนึ่งเหมือนเทวดามาโปรดเมื่อเห็นตำรวจหมู่หนึ่งประมาณ 5-6 คน ควบม้าฝุ่นตะลบมาที่หมู่บ้าน ทุกคนแต่งเครื่องแบบ คาดปืนพก สะพายปีนคาร์บิน ท่าทางสง่า ติดบั้งที่แขนเสื้อ ทราบว่ากองปราบปรามส่งมาล่าคนร้ายโดยเฉพาะ ผู้ใหญ่บ้านต้อนรับ ให้ข้อมูลแล้วพาไปพักที่ศาลาวัดซึ่งเป็นจุดศูนย์กลาง กลางคืนจะแบ่งเป็นสายออกตรวจโดยผู้ใหญ่บ้าน,สารวัตรกำนันนำพา กลางวันนอนพักที่ศาลาวัด ชาวบ้านยกมือไหว้ท่วมหัว จัดอาหารคาวหวานเลี้ยงรับรอง 3 มื้อทุกวัน และจะมีคนชาวบ้านไปเฝ้าดูตำรวจกลุ่มนี้ในขณะที่พวกเค้าพักผ่อนเหมือนดูละครยี่เก จะมีสาวใหญ่หน้าตาดีๆเข้าไปผูกมิตร จุดประสงค์อยากให้ตำรวจอยู่นานๆ ได้ผล หลังจากนั้นอีกไม่นานตำรวจกลุ่มนี้ก็แยกย้ายไปนอนที่บ้านสาวใหญ่แทนศาลาวัด ในที่สุดตำรวจก็กลายเป็นเขยของบ้านนั้นไป
สิ่งประทับใจยามเด็ก ตำรวจเหมือนเทวดาจริงๆ อยู่ที่ไหนประชาอุ่นใจ โจรผู้ร้ายไม่มี ทุกคนรักชอบตำรวจ ปี 2496 ผมจบประถม 4 ชีวิตถึงตอนที่ต้องเลือก อาชีพของบรรพบุรุษคือทำนา จะทำนาหรือเรียนต่อต้องตัดสินใจ เอาละวะเกิดเป็นลูกชาวนามันก็ต้องทำนาเจริญรอยตาม ตื่นตี 5 แบกไถเดินเท้าเปล่าจากบ้านไปถึงนาประมาณ 4-5 กม. ไถหนักเจ็บไหล่จริงๆ พระอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้นเราลงมือไถ 3 ไถด้วยกัน พี่ชายเป็นคนสอน ไถควายไม่ง่ายเลย รอยไถต้องให้ได้แนวชิดๆกัน นั่นคือการบังคับควายให้เดินถูกทาง สำหรับผมคงให้ควายสอนมากกว่าเพราะจับหางไถเดินตามควายไปเรื่อยๆ ถึงหัวมุมจุดเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางสำคัญมาก ต้องบังคับไถให้ดี เป็นเรื่องจนได้ แทนที่จะกดหางไถลงดันไปยกขึ้น ผานไถขุดลึกลงดิน ควายกระชากอย่างแรง เสียงดังโพล๊ะคันไถหัก ไม่สามารถไถต่อไปได้ นั่งร้องไห้ ชีวิตนี้พอกันทีสำหรับการทำนา
มุ่งสู่ตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมัยนั้นไม่มีหอพัก ญาติพี่น้องในตัวเมืองไม่มี ที่พึ่งก็คือวัด พี่ชายคนโตนำไปฝากไว้กับปลัดปานฯวัดเสนาสนาราม สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด อยุธยาวิทยาลัย สอบได้โดยไม้ต้องใช้เส้น ไม่มีการฝาก ชีวิตได้ดีเพราะวัด ที่นี่มีระเบียบวินัยแบบทหาร กิน นอน ตื่น เป็นเวลา ตอนค่ำบังคับให้ดูหนังสือ ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ ล่วงหน้าไปจากที่เรียน มีระบบอาวุโสรุ่นพี่รุ่นน้อง เราอยู่กันประมาณ 30 คน รุ่นพี่ต้องคอยติว,สอนให้รุ่นน้อง เป็นผลให้สอบไล่ชั้นมัธยม 6 ได้ที่ 1 ของจังหวัด
ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยนี่เอง เมื่อเรียนถึง ม.6 ถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจอีกแล้ว จะเรียนต่ออะไรดี วันหนึ่งมีนักเรียนรุ่นพี่ก่อน 1 ปีกลับมาเยี่ยมโรงเรียน แต่งเครื่องแบบนักเรียนเตรียมทหาร เดินตัวตรง สวมหมวก หิ้วกระเป๋าเท่ห์ซะไม่มี โดนใจทีเดียว ผู้ที่เป็นต้นแบบของผมคือ พี่เหมราช ธารีไทย เสาะหาข้อมูล พี่เหมฯจบ 6 แล้วไปสอบเข้าเตรียมทหาร เลือกเหล่าตำรวจ ถูกทางแล้วเรา เตรียมทหารแน่นอน
จบ 6 เข้ากรุงเทพฯหาที่พักไม่ได้ มุ่งเข้าวัดอีก คราวนี้เล่นวัดโพธิ์อารามหลวงชั้นเอกเลย ได้เพื่อนเด็กวัดด้วยกันแนะนำกวดวิชาเข้าเตรียมทหาร สอบรอบแรกผ่านดีใจ ประกาศชื่อรอบสุดท้ายไม่มี วิ่งดูป้ายประกาศหลายๆป้ายกลัวเจ้าหน้าที่ผิดพลาดพิมพ์ชื่อตก ไม่มีก็คือไม่มี เป็นความผิดหวังและเสียใจเป็นครั้งแรกของชีวิต
ระหว่างที่รอฟังผลสอบเข้าเตรียมทหารรอบที่สอง เพื่อนเด็กวัดชวนไปสอบเข้าโรงเรียนศุลการักษ์ เป็นรุ่นแรกที่กรมศุลกากรเปิดรับ ปรากฏว่าสอบได้อันดับ 30 ในจำนวน 60 คน มีชื่อสำรองอีก 5 คน ถึงวันมอบตัวเข้าศุลการักษ์ว้าวุ่นมาก จะตัดสินใจยังไงดี ศุลการักษ์ก็จะให้มอบตัว เตรียมทหารรอบสุดท้ายก็ยังไม่ประกาศ ใจเราอยากเป็นตำรวจอยู่แล้ว ทำยังไงดีๆ ระหว่างนั่งรอคนข้างๆคงจะเห็นอาการเลยเข้ามาพูดคุย “อย่างคุณนี่เหมาะสมกับเครื่องแบบ อย่าเอาเลยศุลการักษ์” (คนที่เชียร์เราเป็นคนติดสำรองคนที่ 1) ตอนนั้นอายุแค่ 16 ไม่รู้จะปรึกษาใคร มีคนไม่รู้จักมาเชียร์แบบนี้ ทิ้งศุลการักษ์ไปเลย (คนสำรองที่เข้าศุลการักษ์ได้เพราะผมสละสิทธิ์น่าจะจำเหตุการณ์ได้ และควรจะขอบคุณผมนะ) ครั้นถึงเวลาประกาศผลเตรียมทหารรอบสุดท้าย อกหัก ดังที่กล่าวในตอนต้น
นอนมือก่ายหน้าผากอยู่ที่วัดโพธิ์ เพื่อนเด็กวัดชวนไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดม สมัยนั้นชอบเรียกกัน “เตรียมจุฬา” ผลเราสอบได้ เพื่อนตก
จบเตรียมฯต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงนั้นต้องสอบรวมที่สภาการศึกษาฯ เลือกสถาปัตย์จุฬา อันดับ 1 วนศาสตร์ ม.เกษตร อันดับ 2 ผลไปติดที่ วนศาสตร์ ม.เกษตร เอาว๊ะดีเหมือนกันจะได้เดินสำรวจป่า ชอบผจญภัยอยู่แล้ว
*ชะตาที่จะต้องมาเป็นตำรวจ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าเรียนที่เกษตรศาสตร์ ข่าวกรมตำรวจเปิดรับสมัครผู้ที่จบเตรึยมอุดมศึกษาเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจเข้าหู (ปกติจะรับจากรวมเหล่า เตรียมทหาร) เอ๊ะ เพื่อเราโดยเฉพาะหรือเปล่า ดีใจไม่ได้สอบถามใคร ถ่อไปที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ขอระเบียบการ เชยแหลกเลยเรา ทางโรงเรียนฯบอกเปิดรับสมัครที่ กองอำนวยการศึกษา ใกล้วังสวนสุนันทา กทม. กลับมาสมัครเกือบไม่ทัน สอบได้สมใจ เป็นรุ่นที่ 19 ทั้งหมด 75 คน
วันรับตัว สั่งให้แต่งชุดกีฬาไปขึ้นรถบัสที่ข้างศาลาเฉลิมกรุง คืนก่อนรับตัวเลี้ยงฉลองกับเพื่อนจนดึกดื่น นอนก็ไม่หลับ ตี 5 ออกจากวัดไปขึ้นรถ ณ จุดนัดหมาย ประมาณ 8 โมงรถบัส 2 คันออกเดินทางมุ่งสู่สามพราน มีนักเรียนรุ่นพี่คุมไป ระหว่างเดินทางเงียบกริบเพราะยังไม่ได้รู้จักกัน ทุกคนต่างฝันถึงอนาคตอันสวยหรูที่จะได้ติดดาวบนบ่า ประมาณชั่วโมงเศษๆรถของพวกเราข้ามสะพานโพธิ์แก้ว รถทั้ง 2 คันหยุด รุ่นพี่ที่นั่งเงียบมาแต่แรกต่างแผดเสียงก้องคำราม “นักเรียนใหม่ลงจากรถ ลงไปในคู ใครช้าโดนทำโทษ” ข้างถนนเพชรเกษมจากโพธิ์แก้วไปสามพรานขณะนั้นเป็นคูน้ำ เต็มไปด้วยผักปอดและโคลนตม ไม่กี่วินาทีพวกเรา 75 ชีวิตไปลอยคอในคู ดำมะล่อกมะแล่ก จากนั้นคำสั่งออกมาเป็นชุดๆ วิ่ง มอบ คลาน กลิ้งซ้ายขวา คลานคืบไปข้างหน้า ม้วนตัว เดินเป็ด เดินมด เดินช้าง ลัดทุ่ง จากสะพานโพธิ์แก้วถึงโรงเรียน ระยะทางประมาณ 5-6 กม. ถึงโรงเรียนเวลาเที่ยงพอดี การรับน้องใหม่ฝากรอยจารึก แผลเป็นที่แขนและเข่าจนทุกวันนี้
ชีวิตในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ 4 ปี เต็มไปด้วยระเบียบวินัย เรียนกฎหมาย วิชาการตำรวจ หนักพอๆกับการฝึก ที่นี่สอนวิชาของลูกผู้ชาย ขี่ม้า ยิงปืน มวยไทย มวยสากล ยูโด ลีลาศ มรรยาทสังคม วิชาทหารและการยังชีพในป่า ถึง 6 เมษายน 2509 จบการศึกษาประดับยศร้อยตำรวจตรี
สมัยนั้นการแต่งโยกย้ายเป็นระบบ ไม่มีการวิ่งเต้นเส้นสาย ทุกคนได้ฝึกงานในนครบาล 6 เดือน จากนั้นผู้สอบสำเร็จการศึกษาได้ลำดับดีย้ายไปอยู่ภูธร ระดับต้นๆจะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ผู้สอบได้อันดับกลางๆไปท้ายสุดไปอยู่ ตชด. หลังจากนั้นก็แรงใครแรงมันวิ่งเต้นกันเอาเอง ผมกลับเข้ามาอยู่นครบาลเมื่อปี 2514 ออกไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพเมื่อปี 2525 กลับเข้ามาอีกครั้งปี 2530 เกษียณอายุปี 2546 ตำแหน่งสุดท้าย ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง
ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ห้างร้านปิด ธุรกิจเจ๊ง คนตกงาน รัฐบาลต้องเข้าช่วยอุ้ม เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก คนตายเป็นใบไม้ร่วง ทุกประเทศรวมทั้งไทยวางมาตรการสู้โควิด ปิดบ้านปิดประเทศ คนไทยกลับมารักกัน คนรวยช่วยคนจน รัฐบาลเข้ามาช่วยอุ้ม ภาคเศรษฐกิจกดดัน ปิดนานไม่ไหว คนอดตายไม่มีงานทำ ขาดรายได้ รัฐบาลเริ่มผ่อนคลาย ห้างร้านและบางธุรกิจทยอยเปิด คนแห่เข้าห้างแน่นจนไม่สามารถรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาด ในขณะที่เชื้อไวรัสโควิดก็ยังไม่หมด เกิด New Normal หรือแนวทางใหม่ในการดำเนินชีวิต ทุกคนต้องดูแลตนเองตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่จำเป็นไม่ออกจากบ้าน คนส่วนใหญ่เริ่มประหยัด ยึดหลักพอเพียง
หลายคนอิจฉาข้าราชการ สิ้นเดือนมีเงินเข้ากระเป๋า ส่วนชาวบ้านเงินช่วยห้าพันบางคนยังไม่ได้ บางคนก็ไม่มีสิทธิ์ พวกข้าราชการที่เกษียณทุกคนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณหน่วยงานที่ตนสังกัด แต่ก็ยังหวั่นๆกลัวว่าสักวันรัฐบาลจะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนเงินบำนาญ *นี่แหละ โชคดีที่ได้มาเป็นตำรวจ
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์