บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
ตำรวจอาชีพ




ตำรวจไม่ใช่ใครอยากเป็นก็เป็นได้ ยิ่งสมัยนี้ต้องผ่านการคัดเลือก แข่งขันกันอย่างแสนสาหัส เข้าไปได้แล้วยังต้องเรียนต้องฝึกอย่างหนัก ต้องรู้หมดทุกเรื่อง ขอยกหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ใช้เวลาหล่อหลอม 4 ปียังดูจะน้อยไปด้วยซ้ำ เป็นเพียงแค่พื้นฐานเท่านั้น ความเชี่ยวชาญไปหาเอาข้างนอกเมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ ได้วิทยายุทจากรุ่นพี่บ้างลูกน้องบ้างและแม้กระทั่งโจร มีเหมือนกันที่จบออกไปใหม่ๆยังกระดูกไม่แข็งเสียท่าโจรโดนยิงตายก็เยอะ ยิงพลาดไปโดนกันเองก็มี ระหว่างอยู่ในโรงเรียนถูกอัดแน่นด้วยวิชาการและเทคนิคต่างๆ ผู้ถ่ายทอดล้วนปรมาจารย์ นักเรียนนายร้อยตำรวจหลายคนถือเอาปรมาจารย์เป็นแม่แบบในการดำเนินชีวิต สมัยผมเรียนติดใจอาจารย์สืบสวน พล.ต.ต.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้บังคับการตำรวจนครบาลเหนือ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ร่างท่านสมาร์ท สูง แต่งเครื่องแบบแล้วเท่ห์มากๆ ท่านเดินบรรยายวิชานักสืบไปทั่วๆห้องพร้อมยกผลงานของท่านเป็นคดีตัวอย่าง ฟังแล้วศรัทธา เลยสมัครใจอยู่นครบาลกันเยอะ อยู่ได้แค่ฝึกงานเพียง 6 เดือน กระเด็นไปอยู่ภูธรบ้างตระเวนชายแดนบ้าง มีอาจารย์วิชาสืบสวนอีกท่านที่ทำให้เพื่อนๆติดตามไปรับราชการในสังกัดของท่าน คือ พล.ต.ต.ยงศุข กมลาศน์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลขณะนั้น ท่านหล่อ สูงใหญ่ เวลาสอนท่านจะแต่งสูทสีต่างๆเป็นที่พึงพอใจเหล่านักเรียน ทำให้รุ่นผมตัดสินใจเลือกไปอยู่ตำรวจสันติบาลหลายคน ผู้ไปอยู่แล้วได้ดีมี พล.ต.อ.ปกรณ์ สรรพกิจ, พล.ต.ท.ฉัตรชัย ศุภางคเสน พวกที่ไม่ได้ตั้งใจแต่ต้องไปอยู่ตำรวจตระเวนชายแดนก็เกือบครึ่งของรุ่น คือพวกที่สอบได้อันดับกลางๆลงไปล่าง อยู่ ตชด.ไม่ใช่จะขี้ไก่ ได้ดีก็มีเช่น พล.ต.อ.คำรณ ลียะวณิช อดีตผบช.ตชด.และผู้ช่วย ผบ.ตร. อาจารย์อีกท่านหนึ่งที่ดึงดูดใจพวกเราคืออาจารย์วิชาการสอบสวน พ.ต.อ.สนั่น ตู้จินดา (ยศในขณะนั้น) การเขียนสำนวนตามแบบฉบับของท่าน สั้น กะทัดรัด อิทธิพลจากอาจารย์มนต์ชัยฯและอาจารย์สนั่นฯทำให้ผมตัดสินใจเลือกนครบาล (ได้แค่ฝึกงานเพียง 6 เดือนก็ยังดี) หลุดจากนครบาลกระเด็นไปแค่ 50 กม.ไปอยู่ที่ สภ.อ.เมืองนครปฐม ได้ปรมาจารย์ถ่ายทอดเรื่องสืบสวนและวิสามัญฆาตกรรมอีกหลายท่าน มี พ.ต.ท.ทิพย์เจริญ ชูเวช, พ.ต.ท.บุญมี เสือเอี่ยม, พ.ต.ท.มาโนช รัตนวิลัย, พ.ต.ท.จำลอง จันท์คำ แต่ละท่านมีวิธีการเป็นแบบฉบับของตนเองซึ่งผมก็เก็บเอาที่ดีๆไว้ ที่นครปฐมนี่ผมมีลูกน้องที่มีฝีมือและมีส่วนทำให้ผมมีชื่อเสียงคือ จ.ส.ต.ไพทูรย์ แสนอาจหาญ มีเทคนิคการสืบสวนและการจับกุมฝีมือขั้นอาจารย์ บั้นปลายชีวิตของอาจารย์ไพทูรย์ฯจบไม่สวย ถูกคนร้ายระดมยิงด้วย M 16 นัยว่ามี “ใบสั่ง” เลยตายฟรี นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็ยังเสียวๆไม่หาย ผมเกือบติดร่างแหไปด้วยเพราะไพทูรย์ฯให้ผมช่วยขับรถพาไปให้ปากคำที่ กก.ภ.จว.นครปฐม (ช่วงนั้นไพทูรย์ฯรู้ตัวมีภัยหลบไปอยู่ที่กองปราบซึ่งผมรับราชการที่นั่น) ไม่รู้เลยว่าเค้าวางงานไว้ พอมีผมติดไปด้วยแผนเลยต้องเลิกล้ม การสอบสวนเลื่อนไป ไพทูรย์ฯถูกนัดไปให้ปากคำอีกครั้ง คราวนี้ขับรถไปเองเลยเรียบร้อย ต้องขอขอบคุณกำนันน้ำฯที่ต้องเหนื่อยเพื่อช่วยชีวิตผมไว้ในวันนั้น
หวนกลับเข้านครบาลเมื่อปี 2513 สมัยนั้นใครๆก็อยากอยู่แต่นครบาลเหนือกับนครบาลใต้ รวมทั้งผมด้วย แต่ผมไม่สามารถวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จากนครปฐมไปตกอยู่โรงพักบางยี่เรือฝั่งธนฯ ได้รุ่นพี่เป็นเพื่อนเข้าเวรคู่กันคือ ร.ต.ท.กิตติโชติ แสงนิล (ยศขณะนั้น) หน้าตาดันเหมือนกัน ยศ ร.ต.ท.เท่ากัน ผู้มาแจ้งความจำผิดจำถูก
ได้ข้ามฟากไปอยู่นครบาลใต้สมใจ ตำแหน่งสารวัตรกองสืบสวนนครบาลใต้ ที่นี่ได้อาจารย์นักสืบชั้นดีหลายท่าน พล.ต.ต.อมร ยุกตนันท์, พ.ต.อ.ธนู หอมหวล, พ.ต.อ.โสภณ วาราชนนท์ ฯลฯ งานสืบสวนส่งผลให้เป็นที่รู้จัก จับกุมคดีสำคัญๆได้ลงรูปบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ มีการแข่งขันผลงานการจับกุมแต่หารู้ไม่ว่า “การสอบสวน” นั้นสำคัญยิ่งกว่า มารู้เอาตอนเฉียดคุก วิสามัญหลายคดีต้องใช้บารมีเจ้านายไปขอพนักงานสอบสวน เหตุศพไม่สวย อยู่นครบาลโชคดีที่ได้ พ.ต.อ.นพ.อาภรณ์ฯ (ราชประสงค์ 3-6) คอยแต่งศพให้สวย ผู้สอบสวนมักจะไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงแต่มีความสำคัญ ผู้สอบสวนจึงเหมือนปิดทองหลังพระ
ปัจจุบันทราบว่าจะปฏิรูปตำรวจ งานสืบสวนกับงานสอบสวนแยกขาดจากกัน ถ้าแยกจริงตำรวจก็คงจะทำงานลำบาก ผลงานคงจะไม่ออกมาเพราะกลัวคุกดังที่กล่าวแล้วข้างต้น สองงานนี้ต้องเกื้อกูลกัน ผู้สืบสวนก็ต้องอาศัยข้อมูลจากการสอบ ผู้สอบสวนก็จำเป็นต้องรู้ข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนเพื่อทราบถึงที่มาของพยานหลักฐาน การเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของพยานหลักฐานต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกผู้ให้การพาเข้ารกเข้าพง ยังไงก็ตามจะปฏิรูปงานตำรวจก็ขอให้มี ตำรวจอาชีพที่ผ่านงานสืบสวนสอบสวน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมหรือให้ข้อมูลด้วย
พูดถึงตำรวจอาชีพผมนึกถึงปรมาจารย์งานสืบสวนและสอบสวนท่านหนึ่ง ที่ผมและตำรวจอีกหลายคนยึดเป็นแบบอย่าง พล.ต.อ.โสภณ วาราชนนท์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ท่านมีประสบการณ์ทั้งงานสืบสวนสอบสวนและบริหาร ผมทำงานร่วมกับท่านที่กองสืบสวนนครบาลใต้ ท่านเป็นรองผู้กำกับและขึ้นเป็นผู้กำกับที่นั่น ท่านได้ตั้งชุดสืบสวนขึ้นมา 5 ชุด แต่ละชุดมีรองผกก.บ้าง สว.บ้างเป็นหัวหน้าชุด นักสืบแต่ละคนมีสมุดบันทึกประจำตัวเกี่ยวกับคดีค้างเก่า ชื่อผู้ต้องหา หมายจับ หมายเลขคดี รายละเอียดที่สืบสวนมาได้ มีการประชุมนักสืบทุกวันพุธของสัปดาห์ หัวหน้าชุดจะต้องรายงานผลคืบหน้า ทุกชุดรับทราบข้อมูลและบันทึกเพิ่มเติม งานใหม่เข้ามาทุกชุดรับไป (รู้ข้อมูลเท่าๆกันหมด..แต่มอบหมายให้ชุดใดชุดหนึ่งเป็นเจ้าภาพ) ยังมีชุดที่ 6 ทำหน้าที่จับกุมเพื่อทำสถิติ คือจับทุกอย่างที่ขวางหน้าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเพื่อให้มีสถิติรายงานหน่วยเหนือ วิธีการนี้จึงทำให้กองสืบสวนนครบาลใต้ขณะนั้นมีสถิติการจับกุมทุกสัปดาห์ ผมชอบใจการบริหารของท่านอีกประการหนึ่งคือ ท่านบอกว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” (ไม่ต้องอธิบายนะ) ท่านตั้งชุดพิเศษขึ้นมาอีกชุดซึ่งพวกเราเรียกกันว่า “ชุดเศรษฐกิจ” มีสารวัตรเทียมฯเป็นหัวหน้า สารวัตรเทียมเป็นที่รักของนักสืบทุกคน ทุกวันพวกเราจะไปสวัสดีสารวัตรเทียมฯเพราะบางวันเราอาจได้ค่าขนมค่าน้ำมัน
ผมอยู่ที่กองสืบสวนนครบาลใต้ประมาณ 5 ปี สร้างผลงานให้กับหน่วยพอสมควรเพราะมีเพื่อนร่วมงานที่ดี เก่ง ขยัน เช่น อดิศักดิ์ มั่นศรี, สุรศักดิ์ สุทธารมณ์, สมคิด บุญถนอม, ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ, ชาลี เภกะนันท์, ทรงพล สารพานิช, สุเมธ เรืองสวัสดิ์ และอีกหลายๆคนรวมทั้งชั้นประทวน เอ่ยชื่อหมดคงเต็มหน้ากระดาษ ทุกคนล้วนวิทยายุทแข็งกล้า กัดไม่ปล่อย และที่หน่วยงานนี้เองผมก็ได้ทำให้สะเทือนไปทั้งวงการสีกากีเมื่อตกเป็นข่าว พาผู้ต้องหาคดีอาญาสำคัญหลบหนีออกต่างประเทศ (กรณีขับรถพาเสี่ยโสฯและเสี่ยโต้งฯผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นออกนอกราชอาณาจักรเข้ามาเลเซียทางด่านปาดังเบซาห์) เป็นครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์รายวันออกวันละ 4 ปก ผมถูกตั้งฉายาว่า “ตำรวจแกะดำ”
ผมเกือบมีเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยอีก 1 คน เป็นนายตำรวจรุ่นพี่ที่คบกันแบบเพื่อน เคยอยู่สืบสวนใต้และสนิทสนมกับเฮียโส นายตำรวจผู้นี้ใจถึง นักเลง เอาไงเอากัน ไม่ทิ้งเพื่อน ไม่ทิ้งลูกน้อง ครั้งที่ไปวิสามัญคนร้ายคดีปล้นทรัพย์ คนร้ายอยู่ในรถยนต์ หลังจากเสียงปืนจากการยิงต่อสู้ยุติลง รถคนร้ายจอดนิ่ง พวกเราและนักข่าวเข้าไปดูที่รถคนร้าย เข้าไปแบบกลัวๆกล้าๆ นายตำรวจผู้นี้นำหน้า ประมาณไม่ถึงวาก็จะถึงรถ ทันใดทุกคนรวมทั้งช่างภาพต้องหมอบหลบพันวัน เสียงปืนดังจนแสบแก้วหูเพราะอยู่ใกล้ นายตำรวจผู้นี้ใช้ลูกซองยาวอัดใส่รถคนร้าย ผมรีบทักพี่เค้า เกิดอะไรขึ้น พี่แกตอบหน้าตาเฉย “..รู้เปล่า..มันยังไม่ตาย..มันหยิบปืนจะล่อเรา..” พี่แกแน่จริงๆ วันที่โสกับโต้งจะหลบออกนอกประเทศ นายตำรวจผู้นี้จะขอไปด้วย แต่ติดต้องไปปล่อยแถวตำรวจตอนเช้า (ตอนนั้นนายตำรวจผู้นี้ย้ายไปอยู่สน.ใดจำไม่ได้) ผมก็เลยกลายเป็นสิงห์เดี่ยว และด้วยเหตุรักลูกน้อง นายตำรวจผู้นี้ในที่สุดก็ต้องออกจากราชการ ผมเก็บความลับเรื่องนี้มา 38 ปี วันนี้คิดถึงพี่เค้า พ.ต.ท.อดิศักดิ์ มั่นศรี หรือ “พี่ตุ๊ด” ขอเขียนถึงด้วยความเคารพรักนะครับ
เหตุการณ์ครั้งนั้นหลังจากผมแยกทางกับเสี่ยโสฯเสี่ยโต้งฯแล้ว เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ รายงานต่อท่านโสภณฯในฐานะผู้บังคับบัญชา ท่านมาหาที่บ้านบอกว่ามีคำสั่งให้คุมตัวแต่ท่านบอกว่า “อยู่ที่บ้าน อย่าไปไหนนะ พรุ่งนี้ไปรายงานตัวที่ บชน.” เช้าขึ้นผมลาลูกเมียเตรียมข้าวของอุปกรณ์จำเป็นใส่กระเป๋ากะนอนห้องขัง รายงานตัวผู้บังคับบัญชาแล้วนั่งรอที่ห้องทำงาน 3 ชั่วโมงผู้บังคับบัญชาประชุมเสร็จ ท่านโสภณฯมาตบไหล่แล้วบอกว่า “กูร..สบายใจ ยังไม่ต้องเข้าคุกตอนนี้..แค่ประจำกรม” หมายถึงตัวผมต้องไปประจำที่กรมตำรวจในระหว่างถูกสอบสวนโดยไม่ต้องทำงานในตำแหน่งหน้าที่
ผมซึ้งใจเจ้านายท่านนี้ที่ท่านเรียนกับผู้บังคับบัญชาว่า ท่านจะขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ลูกน้องไปทำความเสื่อมเสียให้กับองค์กร แต่ผู้บังคับบัญหาได้ห้ามไว้
ท่าน พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เจ้านายผู้เป็นที่รักของผมและของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน ท่านได้เขียนหนังสือ “ประสบการณ์ตำรวจอาชีพ” สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของตำรวจ เป็นถ้อยคำง่ายๆอ่านแล้วเข้าใจไม่ต้องแปล ผู้ที่รักอาชีพตำรวจควรอ่าน และ ผู้ที่จะไปปฏิรูปงานตำรวจก็ควรจะได้รับทราบ (หนังสือนี้ท่านแจก ไม่มีจำหน่าย) ผมยังระลึกถึงท่านเสมอครับ เจ้านายผู้ใจดี.
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์