บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
ขึ้นโรงพักระวังโดนเป่า
หน้าหลัก ›› บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง ›› ขึ้นโรงพักระวังโดนเป่า
ตำรวจเปรียบเสมือนเป็นกรรมการของสังคมในเรื่องของการให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การระงับข้อพิพาท การอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น และการดำเนินการทั้งหลายเพื่อให้เกิดความผาสุกในสังคม ความคาดหวังของประชาชนต่อตำรวจมีมาก ตำรวจจึงต้องทำตัวเป็นพระนารายณ์ ๔ กร ต้องเป็นมิตรกับประชาชน ทำตัวเป็นที่พึ่งและต้องปราบทุกข์เข็ญผจญกับเหล่ามารร้ายไปด้วยในเวลาเดียวกัน หลายเรื่องถาถมเข้ามาจนตำรวจหลายคนมักจะบ่นในใจว่า “กูไม่ใช่พระนารายณ์ ๔ กรนี่โว้ย” เป็นการบ่นในใจนะครับถ้าหลุดออกมาเป็นเสียงเมื่อไรเป็นเรื่องทันที ผมกำลังจะบอกว่าเรื่องคดีความเข้ามาสู่ “โรงพัก”(โรงพักก็คือสถานีตำรวจซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ แต่ผมก็ชอบเรียก หลายคนก็เข้าใจ)เป็นจำนวนมากจนนายตำรวจแต่ละคนรับเรื่องไว้ดำเนินการไม่ไหว นายตำรวจหลายคนต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องสำนวนล่าช้า สำนวนค้าง (พวกค้าความทั้งหลายคงจะเข้าใจนะครับว่าสำนวนแต่ละเรื่องมีอายุเวลาในการดำเนินการ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากรู้แล้วจะปวดหัว เอาพอเป็นสังเขปว่าคดีที่มีตัว คือจับตัวผู้ต้องหาได้ระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวนต้องให้เสร็จภายในระยะเวลาที่มีอำนาจฝากขัง คำถามจะตามมาอีกว่าแต่ละเรื่องฝากขังได้นานเท่าไร ถ้าจะตอบกันให้เข้าใจถ้วนถี่ก็ต้องเอากฏหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาว่ากัน ๑ เดือนไม่จบ สรุปง่ายๆว่ายังไงก็ไม่เกิน ๖ เดือนต่อเรื่อง) นายตำรวจหลายคนถูกออกจากราชการเพราะสำนวนค้างและล่าช้า นายตำรวจบางคนหนีราชการ หนีไม่หนีเปล่าหอบเอาสำนวนไปด้วย บางคนเผาสำนวนทิ้งไปเลย บางคนก็ยิงตัวตาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง

ประชาชนไม่ค่อยได้ทราบเพราะตำรวจเขาปิดกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีจะรู้สึกผิดสังเกตตอนที่ถูกเรียกไปสอบสวนเรื่อยๆ เรียกไปสอบใหม่ยังดีนายตำรวจบางคนใจกล้าเขียนสำนวนใหม่แล้วปลอมลายเซ็นซะเลย ผู้ที่รับราชการจบครบเกษียณโดยไม่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนผมนับถือว่าท่านเก่งและคล่องจริงๆ

ความคล่องตัวของพนักงานสอบสวน(นายตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีจะเรียกพนักงานสอบสวน) ผู้ที่มีความคล่องตัวมากจะเหนื่อยน้อยคือไม่ค่อยมีสำนวนค้าง บางคนคล่องมากจะเป็นกะล่อนไปเลยก็มี ผู้ที่มีความคล่องตัวน้อยมักจะมีงานมากและย่อมเหนื่อยเป็นธรรมดา จะยกตัวอย่างความคล่องตัวให้ท่านได้สัมผัสสัก ๒-๓ ประการ

ศิลปะการ “เป่าคดี” ใครเป็นคนบัญญัติคำว่า “เป่า”ผมก็ไม่ทราบ ตั้งแต่สมัยผมเริ่มรับราชการก็รู้จักคำๆนี้และปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันอยู่ การเป่าคดีมีกันทุกคนในหมู่พนักงานสอบสวน ผมเองก็ยอมรับว่าเคยเป่าแต่ของผมมีศิลปะมากจนสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ ต่อไปนี้เป็นหัวใจของการเป่าคดี

๑ ต้องต้อนรับผู้มาร้องทุกข์แจ้งความเป็นอย่างดี ยกมือไหว้ทักทาย(บางคนไม่ชอบให้นับญาติ อันนี้ต้องอ่านคนให้เป็น) แสดงความทุกข์ร้อนห่วงใยจนเกือบจะออกนอกหน้า ว่าแล้วก็สั่งเครื่องดื่มเป็นน้ำขวดบ้าง โอเลี้ยงบ้างมาต้อนรับ บางรายชวนทานอาหารด้วยเลย เรื่องนี้ลองไปตรวจสอบตามโรงพักที่ผมเคยอยู่จะทราบ พนักงานสอบสวนทุกคนจะเซ็นบัญชีไว้กับร้านค้าสิ้นเดือนเก็บเงินที บางเดือนหลายสตังแต่ก็คุ้ม มีผู้แจ้งความบางคนติดความมีอัธยาศัยของผมมักจะแวะเวียนเยี่ยมเยียนถามผลคดีเป็นประจำ แน่นอนแต่ละครั้งการต้อนรับขับสู้และการพูดให้กำลังใจไม่เคยบกพร่อง

๒ การบันทึกปากคำผู้แจ้งความร้องทุกข์สำคัญที่สุด อย่างน้อยผู้แจ้งได้ระบายความเดือดร้อนหรือคับแค้นให้เราฟัง เราบันทึกปากคำพร้อมกับเออออผสมโรงไปกับผู้แจ้งเพื่อให้เกิดความสบายใจ บันทึกปากคำเสร็จแล้วต้องให้เซ็นชื่อ ยิ่งเซ็นในเอกสารหลายๆแผ่นผู้แจ้งยิ่งชอบเพราะเมื่อกลับไปบ้านจะคุยฟุ้งให้ญาติพี่น้องฟัง “หมวดแกดีจริงๆ เลี้ยงน้ำเลี้ยงท่า เซ็นชื่อเสียจนเมื่อยมือ”

๓ ต้องไปดูสถานที่เกิดเหตุ เอาลูกน้องไปด้วย ระหว่างที่เราเสก็ตภาพทำแผนที่ๆเกิดเหตุให้ลูกน้องถ่ายภาพจุดสำคัญๆที่มีร่องรอยพยานหลักฐาน หาผงถ่านบดละเอียดไปโรยตามจุดที่คาดว่าจะมีร่องรอยลายนิ้วมือ ใช้แปลงขนอูฐปัดเบาๆแล้วเอาแผ่นสก๊อตเทปลอกลายนิ้วมือเก็บไว้ ลายนิ้วมือแฝงจะเก็บได้ ไม่ได้ จะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ต้องสาธยายเก็บไปให้เยอะๆก็แล้วกัน การดูสถานที่เกิดเหตุนี้สำคัญเพราะถ้าหากเราไม่ไปดูพี่แกจะเก็บสถานที่เกิดเหตุไว้ข้ามวันข้ามคืนเพราะกลัวร่องรอยจะสูญหาย เรื่องนี้ตอนผมเป็นผู้บังคับบัญชาได้รับคำร้องเรียนบ่อย พนักงานสอบสวนก็ชี้แจงสวนมาทันทีว่า “ท่านครับผมสอบดูแล้วยังไงๆก็ไม่ปรากฏร่องรอยที่จะเป็นประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน” ผมก็อัดกลับไปทันที “ก็มึงไปดูของเขาซะหน่อยไม่ได้หรือ” ก็ได้รับคำตอบมาว่าออกเวรเที่ยงจนปาเข้าไปบ่าย ๔ โมงครึ่งยังเหลืออีก ๒ คดีติดค้างบนโรงพักข้าวกลางวันยังไม่ได้กิน(เหล่านี้เป็นเรื่องจริง) ผมก็เลยบอกว่า“เดียวก็ไปดูให้เอง”ว่าแล้วผมก็ชวนลูกน้องไปตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ลืมเอากล้องถ่ายรูปไปถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุด้วย

กรรมพิธีเกี่ยวกับผู้แจ้งความเสร็จสิ้นแล้ว แต่ขั้นตอนสำหรับพนักงานสอบสวนมีอีกร้อยแปด(ถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เป็นต้นว่าต้องรายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูง เสนอสำนวนรับการตรวจภายใน ๒๔ ชั่วโมง ฯลฯ) สำหรับนักเลงเป่าคดีก็จะมาพิจารณาว่าในคดีดังกล่าวมีทรัพย์สินที่มีทะเบียนอยู่หรือไม่เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อาวุธปืน คดีที่มีสิ่งของมีทะเบียนเกี่ยวข้องเป่าแล้วอันตราย เพราะวันดีคืนดีตำรวจที่อื่นเกิดไปจับกุมความผิดอื่นแล้วพบวัตถุที่มีทะเบียนสามารถตรวจสอบโยงใยมาถึงแล้วจะลำบาก ดังนั้นคดีใดเกี่ยวข้องกับสิ่งของมีทะเบียนเราจะไม่เป่า และอีกประการหนึ่งถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการตายเป่าไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับการออกมรณะบัตรและปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน

การเป่าก็คือไม่เอาเรื่องที่สอบสวนนี้ไปลงบันทึกในสารบัญสมุดรับคำร้องทุกข์ เพราะเมื่อลงแล้วจะถูกควบคุมตรวจสอบโดยเลขคดี เจ้าเลขคดีนี่แหละเป็นตัวบอกว่าสำนวนค้างหรือล่าช้า โดยจะมีเจ้าหน้าที่เสมียนคดีคอยรายงานและเมื่อผู้บังคับบัญชามาตรวจสอบการปฏิบัติงานของโรงพักก็มักจะเรียกสมุดคุมคดีไปตรวจ ผู้แจ้งบางคนหัวหมอกลัวคดีจะถูกเป่ามักจะขอจดข้อประจำวันไป(บันทึกประจำวัน เป็นบันทึกที่เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกเป็นหลักฐานว่าในรอบ ๒๔ชั่วโมงในแต่ละวันใครทำอะไร ที่ไหนบ้าง) ฉะนั้นหากจดข้อประจำวันไปแต่ไม่ได้ดูให้ละเอียดว่ารับคำร้องทุกข์ไว้หมายเลขที่เท่าไร คุณก็โดนเป่าอีกจนได้

ความจริงเมื่อตำรวจมีการสอบสวนปากคำผู้ร้อง มีลงบันทึกประจำวันแล้วถือว่ามีการร้องทุกข์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่การที่ตำรวจไม่นำเรื่องที่สอบไปลงในสาระบบรับคำร้องทุกข์ทำให้หลุดพ้นจากการตรวจสอบเร่งรัดการปฏิบัติงานของผู้บังคับบัญชาไป ไม่แน่ใจว่าคดีของท่านได้รับการสืบสวนตามกระบวนการหรือไม่

๔ ลงประจำวันเล่มพิเศษ หมายถึงสมุดบันทึกประจำวันที่ไม่อยู่ในสาระบบของสถานีตำรวจ สำหรับของผมจะทำของผมขึ้นเอง โดยใช้สมุดบันทึกเล่มหนาๆมีหลายแผ่น ในช่วงที่ผมเข้าเวรมีหน้าที่รับคดีผมจะบันทึกเรียงหน้าต่อหน้าลงวันที่เรียงลำดับไป อะไรเกิดก่อนเกิดหลังกี่ปีก็สามารถตรวจค้นได้รวดเร็ว ส่วนเอกสารที่บันทึกปากคำก็จะทำแฟ้มเก็บใส่ตู้เรียงตามวัน เดือน ปีไว้เพื่อสะดวกในการค้นเรื่องเดิม

๕ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องส่งเรื่องให้ทางฝ่ายสืบสวนซึ่งจะมีสารวัตรสืบสวนเป็นหัวหน้า เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนซึ่งบางคนก็เรียกว่า “สะก๊อต”ออกไปสืบสวนหาข้อมูล เบาะแส หรือตัวคนร้าย และในรอบสัปดาห์หรือ ๑ เดือนจะมีการประชุมฝ่ายสืบสวน ถ้าต่างจังหวัดก็ประชุมในส่วนจังหวัด ในกรุงเทพก็ประชุมทุกโรงพักในนครบาล เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละโรงพักมีคดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราจะดูจากแผนประทุษกรรมของคนร้าย จากรูปพรรณสัณฐาณ คนร้ายที่กระผิดในท้องที่หนึ่งอาจจะไปถูกจับได้ในอีกท้องที่หนึ่ง เป็นการขยายผลการสืบสวนทางหนึ่ง

๖ ข้อมูลทางคดีจะถูกส่งไปให้ฝ่ายปกครองป้องกัน ซึ่งมีสารวัตรปกครองป้องกันเป็นหัวหน้า เป็นข้อมูลบ่งบอกว่าจุดไหน ถนนไหน ตรอกซอกซอยไหนมีคดีประเภทใดเกิดขึ้นมากน้อย เพื่อใช้ในการจัดสายตรวจ ตั้งด่านตรวจ ตั้งจุดสกัด รวมทั้งการพิจารณาตั้งตู้แดง

ตู้แดงนี่ก็เป็นปัญหามาก ผู้มีเส้นมีสายบางคนมักจะขอตู้แดงไปติดไว้ที่หน้าบ้านเพื่อให้ตำรวจไปตรวจเซ็นชื่อ ความจริงถ้าในถนนนั้น หรือในซอยนั้นมีตู้แดงอยู่สุดซอยหรือสุดถนนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปติดที่กลางซอยอีก เพราะตำรวจสายตรวจต้องไปตรวจและเซ็นชื่อที่ตู้แดงปลายซอยหรือสุดถนนนั้นอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการเอาใจผู้บังคับบัญชาก็เลยสั่งให้ไปติดประดับรั้วบ้าน บางคนเรียกตู้แดงว่า “ตู้พาณิชย์”เพราะมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับสารตรวจเป็นรายเดือน ตู้ละ ๑๐๐๐ บาทบ้าง ๑๕๐๐ บาทบ้าง อันนี้เป็นเรื่องของสินน้ำใจไม่ว่ากันอยู่แล้ว ความจริงตู้แดงนี่ทำขึ้นเพื่อเป็นการบังคับตำรวจสายตรวจทางอ้อมว่าจะต้องไปตรวจตามเส้นทางนั้นๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการไปตรวจจริงจึงบังคับให้มีการเซ็นชื่อในสมุดซึ่งเก็บไว้ในตู้แดง บ้านใครมีตู้แดงลองตรวจดูนะครับว่ามีสมุดสำหรับเซ็นชื่ออยู่ไหม ถ้ามีแล้วดูอีกว่ามีการเซ็นชื่ออย่างต่อเนื่องหรือไม่ คือในรอบ ๖ ชั่วโมงจะมีการเซ็นชื่ออย่างน้อย ๒ ครั้ง หมายความว่าจะต้องมีการตรวจผ่าน ๒ รอบ ในแต่ละรอบที่ผ่านก็เซ็นชื่อ ๑ ครั้ง สายตรวจบางคนก็ฉลาดตรวจผ่านครั้งเดียวเซ็นชื่อย้อนหลังไป ๕-๖ ชื่อ ผู้บังคับบัญชารู้ทันให้สายตรวจสลับกันตรวจแล้วเซ็นชื่อสลับกัน สายตรวจฉลาดกว่าปลอมลายเซ็นให้เพื่อนอีก เป็นอันว่าแก้ไม่ตกถ้าคนมันไม่ซื่อหรือไม่มีวินัย ตู้แดงใช่ว่าจะป้องกันเหตุได้ เดี๋ยวนี้พวกโจรหรือคนร้ายฉลาดไม่มีใครเข้าไปงัดบ้านโจรกรรมขณะที่สายตรวจกำลังตรวจผ่าน แต่การมีตู้แดงนี้มีส่วนดีที่จะบังคับให้สายตรวจต้องอยู่ตรวจในพื้นที่ๆรับผิดชอบ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นพอได้รับแจ้งสามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ทันท่วงที

สบายใจนะครับถึงแม้ตำรวจจะเป่าคดีแต่ก็ยังมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด ติดตามเอาทรัพย์สินกลับคืน มีการพิจารณาปรับแผนในการตรวจ ยังไงการเป่าคดีก็ยังจะต้องดูตาม้าตาเรือ อ่านให้ออกว่าใครเป็นใคร มีเส้นมีสายเพียงใดหรือไม่ มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาทัณฑ์ทางวินัย ส่วนสำหรับผมคดีที่เป่ามาไม่เคยเสียหายและก็ขาดอายุความแล้วครับ.
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์