นายร้อยตำรวจหญิง
ตั้งแต่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน ได้เปิดหลักสูตร นายร้อยตำรวจหญิง เป็นรุ่นแรกเมื่อ ปี ๒๕๕๒ มีผู้สนใจเข้าสอบถามผมเป็นจำนวนมาก ข้อเขียนฉบับนี้จะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการตัดสินใจสำหรับเยาวชนทั้ง ชาย และ หญิงที่กำลังจะจบการศึกษาระดับมัธยมว่าจะศึกษาต่อในทางใด การตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต หมายถึงอนาคตของคุณที่คุณต้องเลือกเอง
โรงเรียนนายร้อยตำรวจผลิตแต่นายร้อยผู้ชายมาเป็นเวลา ๑๐๗ ปี ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงเพื่อความเหมาะสมในการสอบสวนและปฏิบัติงานในคดีบางประเภท สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้วิธีเปิดรับสมัครสุภาพสตรีที่จบการศึกษาปริญญากฎหมาย นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เข้ารับการอบรมเป็นเวลา ๖ เดือนแล้วบรรจุเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร ยศร้อยตำรวจตรีหญิง การใช้เวลาอบรมด้านวิชาการตำรวจ การสืบสวน สอบสวน รวมทั้งเทคนิค ความรู้ ทักษะเฉพาะด้านที่จะต้องใช้ในหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เช่น การต่อสู้ป้องกันตัว การใช้อาวุธปืน การตรวจค้น จับกุม การตรวจสถานที่เกิดเหตุ การตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บุคลิกภาพ ความอดทน วิชาทหาร จริยธรรม ฯลฯ การใช้เวลาเพียงแค่ ๖ เดือนไม่เพียงพอ สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ( ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นนายกสภาฯ พล.ต.ท.อมรินทร์ อัครวงษ์ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ) จึงขออนุมัติเปิดหลักสูตร นายร้อยตำรวจหญิง เป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๒ จำนวน ๗๐ คน (จากบุคคลทั่วไป ๖๐ จากตำรวจหญิง ๑๐)
๑ ปีผ่านไป ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี โรงเรียนนายร้อยตำรวจโดยความเห็นชอบของสภาการศึกษา ฯได้เสนอขออนุมัติผลิต นายร้อยตำรวจหญิง อีกเป็นโครงการต่อเนื่อง ๒๐ ปี ๆละ ๗๐ คน (๖๐+๑๐) ต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้มีนายตำรวจหญิงที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าหากโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบ ในเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ก็คงจะมีข่าวการเปิดรับสมัคร
การเข้าเรียนในโรงเรียนเครื่องแบบไม่ใช่ของง่าย ๆ หรือของหมูๆ ใช่ว่าเมื่อสอบเข้าไปได้แล้วก็จะเรียนจบ มีคนที่ต้องลาออก, ถูกให้ออกกลางคันก็มี อย่างนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกนี่ก็ลาออกไป ๒ คน แต่เป็นการออกในช่วงที่สมารถเรียกผู้ที่มีชื่อสำรองเข้าเรียนแทนได้ทัน อะไรคือเหตุผลที่ต้องลาออก ทำไมต้องออกเพราะการเข้าก็แสนจะยาก อาจเป็นเพราะ ๑. หนทางที่จะไปสู่ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ๆเหมือนอย่างที่คิดไว้ ๒. มีทางเลือกอื่นที่น่าจะดีกว่า ทั้งหมดนี้ก็คือ การขาดข้อมูล ไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้สิ่งที่จะต้องไปเจอข้างหน้า และในอนาคต ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ครับ
ข้อมูลที่ควรทราบเกี่ยวกับการสมัครเรียนนายร้อยตำรวจหญิง (ส่วนนายร้อยตำรวจชายเปิดรับสมัครทุกปีอยู่แล้ว ข้อมูลหาได้ง่าย)
- การเปิดรับสมัคร (ถ้ามี) จะอยู่ประมาณช่วงต้นเดือนมกราคมของแต่ละปี ( ติดตามข่าว หรือค้นหาจากWebsiteของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ) ทั้งนี้จะต้องให้ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน (ถ้าไม่อนุมัติก็ไม่เปิด)
- รับสมัครปีละ ๗๐ คน จากบุคคลทั่วไป ๖๐ คน จากผู้ที่เป็นข้าราชการตำรวจอยู่แล้ว ๑๐ คน
- วุฒิ (บุคคลทั่วไป) มัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือเทียบเท่า (ข้าราชการตำรวจหญิง) ต้องรับราชการตำรวจมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี
- อายุ (บุคคลทั่วไป) อายุไม่เกิน ๒๑ ปี (ข้าราชการตำรวจหญิง) อายุไม่เกิน ๒๕ ปี
- ส่วนสูง จะต้องไม่ต่ำกว่า ๑๖๐ เซนติเมตร
- การสอบแบ่งเป็น ๒ รอบ รอบแรก เป็นการสอบข้อเขียน วิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ วิชาละ ๒๐๐ คะแนน รอบที่สอง เป็นการสอบพลศึกษา วิ่ง ๑,๐๐๐ เมตรใช้เวลาไม่เกิน ๗ นาที ว่ายน้ำระยะทาง ๕๐ เมตรใช้เวลาไม่เกิน ๓ นาที เมื่อผ่านทั้งสองรอบแล้วจะมีการสอบสัมภาษณ์เพื่อดูบุคลิกภาพ ทักษะ และตรวจโรค
- ข้อควรทราบเกี่ยวกับการสอบ คะแนนที่จะเป็นตัววัด หรือเรียงอันดับใครจะดีกว่าใคร อยู่ที่คะแนนการสอบข้อเขียน คือต้องสอบข้อเขียนให้ได้คะแนนมากที่สุด ส่วนพลศึกษาไม่มีคะแนนบวกให้ ถ้าสามารถทำได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก็ผ่านไปได้เลย ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ถึงจะสอบข้อเขียนได้ดีเลิศอย่างไรก็ตกทันที การสัมภาษณ์ (ดูบุคลิกลักษณะ) และการตรวจโรค ก็ไม่มีคะแนนให้ ไม่ผ่านเป็นตก ถ้าผ่านก็ไปวัดกันที่คะแนนข้อเขียน ฉะนั้นสำรวจตัวเองเสียก่อน บางอย่างเป็นข้อสอบที่รู้กันอยู่แล้ว เช่น ส่วนสูงไม่ถึง อายุเกิน ตาเข ตาเหล่ มีลักษณะพิกลพิการจนสามารถมองเห็นได้ชัด ตาบอดสี มีอาการของโรคหัวใจ (ออกกำลังกายหนักๆไม่ได้) บางอย่างตรวจดูด้วยตนเองไม่ได้ก็ไปให้แพทย์ตรวจ ถ้าพบข้อบกพร่องและไม่สามารถแก้ไขได้ก็อย่าไปสมัครสอบให้เสียเวลา เส้นดียังไงก็ไม่ผ่าน
- ข้อแนะนำเกี่ยวกับพละศึกษา สำคัญมากนะครับ ต้องเตรียมการ หรือฝึกซ้อมไว้ก่อน ไม่งั้นคุณลำบากแน่ๆ ผมสงสาร ชีวิตนักเรียนเครื่องแบบต้องใช้พละกำลังพอๆกับการใช้สมอง นักเรียนส่วนใหญ่จะมุ่งแต่การเรียนไม่ค่อยได้เล่นกีฬา ถ้าเป็นนักกีฬาอยู่แล้วก็คงจะสบายไประดับหนึ่ง ถ้าคุณรักเรียนทางนี้ต้องสนใจเรื่องการออกกำลังกาย เล่นกีฬาให้มากๆๆๆๆ ลองวิ่งแล้วจับเวลาดู ถ้าเวลาที่กำหนดยังวิ่งไม่ผ่านก็หนักใจ ต้องวิ่งให้ผ่าน วิ่งทุกวันจนเคยชิน เพราะการใช้ชีวิตในโรงเรียนนายร้อยตำรวจทั้ง ๔ ปี จะมีการวิ่งทุกวัน โดยเฉพาะปี ๑ การเคลื่อนที่คือการวิ่ง ถ้าจะเดินต้องเดินเตะฉาก รับรองเข้าไปแล้วไม่มีไขมันหน้าท้อง เรื่องผัดหน้าทาแป้ง ทาปาก คงจะไม่มี รองเท้าที่ใช้สำคัญมากนะครับ ต้องให้ขนาดพอดีกับเท้าและใช้ถุงเท้าที่หนาพอสมควร อยู่ในโรงเรียนนายร้อยใช้รองเท้าบู๊ต (บางคนเรียกไอ้โอ๊บ) พื้นมันแข็ง หนังก็แข็ง ถ้ารองเท้าไม่พอดี ถุงไม่พอดี วิ่งแล้วมันกัดเท้า ผมเคยเห็นเพื่อนผมทนวิ่งทั้งๆที่รองเท้ากัด พอหยุดวิ่งถอดรองเท้าออกมา ผิวหนังกำพร้าไม่เหลือเลยเห็นแต่เนื้อแดงๆ เขาทนได้ไง ข้อแนะนำในส่วนนี้คือ ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ และให้ถึงขั้น มิฉะนั้นคุณลำบาก ส่วนเรื่องว่ายน้ำ เป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณต้องว่ายน้ำเป็น ถ้าว่ายไม่เป็นก็จงไปหัดเสีย มีสถานที่สอนเยอะแยะไป
- หลักสูตรการเรียนใช้เวลา ๔ ปี เช่นเดียวกันกับนายร้อยตำรวจชาย สถานที่รับสมัครสอบ, สถานที่ศึกษา ณ ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน จังหวัดนครปฐม สถานที่สอบแล้วแต่จะประกาศ (เมื่อปี ๒๕๕๒ สอบที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
- เมื่อจบการศึกษาได้รับพระราชทานปริญญาบัตร รป.บ.(ตร.) (มีโครงการที่จะเข้ารับพระราชทานกระบี่เช่นเดียวกับนายร้อยตำรวจชาย) ประดับยศร้อยตำรวจตรี ส่วนจะไปประจำที่สถานีตำรวจใดนั้นเป็นเรื่องคาดเดายาก ตามโครงการต้องการให้ไปอยู่ทุกสถานีตำรวจในประเทศไทย เอาเป็นว่าขอให้สอบเข้าให้ได้ และเรียนให้จบเสียก่อนดีกว่า จะไปอยู่ที่ไหนว่ากันทีหลัง
- วิชาข้อเขียนจะเห็นว่ามีภาษาไทย อันนี้ก็สำคัญ การเป็นนายตำรวจงานหลักก็คือการสอบสวน การสอบสวนต้องใช้ภาษาไทย ฉะนั้นภาษาไทยคุณต้องดีถูกหลักภาษา ถูกไวยากรณ์ อย่าเพี้ยน อย่าวิบัติ สมัยผมสอบมีการเรียงความ ย่อความภาษาไทย ตอนแรกผมงงว่าทำไมการศึกษาระดับนี้ยังมีเรื่องเหล่านี้อยู่ พอออกมาทำงานแล้วจึงรู้ การสอบสวนก็คือการเรียงความ การสรุปสำนวนการสอบสวนก็คือการย่อความ สำคัญนะครับ
เมื่อเข้าไปเรียนได้แล้วจะมีเรื่องที่น่าสนใจ ตื่นเต้นตลอด โรงเรียนนายร้อยตำรวจหลักสูตรการศึกษาทันสมัย สภามหาวิทยาลัยให้การรับรอง ที่นี่คุณจะพบหลายสิ่งหลายอย่างที่ในมหาวิทยาลัยทั่วๆไปไม่มี เช่น
- เป็นการเรียนประจำที่มีการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร รวมทั้งการเข้าสังคม มารยาทต่าง ๆ เช่นการรับประทานอาหาร การดื่ม การเดินทาง การแต่งกาย การพูดในโอกาสต่างๆ การพูดต่อหน้าสาธารณะ หลักสูตรการเป็นผู้นำ
- วิชากฎหมายต่างๆ วิชาการตำรวจ (ระเบียบการต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับคดี ไม่เกี่ยวกับคดี) การชันสูตศพ นิติเวชวิทยา (ดูการผ่าศพพิสูจน์) วิชาการสืบสวน สอบสวน การทำสำนวน ฯลฯ
- มีการเรียนวิชาการในห้องเรียน ห้องLabภาษาอังกฤษ การออกฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริง การจู่โจม การจับกุม การปิดล้อม ตรวจค้น การฝึกวิชาทหาร การเล่นกีฬา ฯลฯ
- สมัยก่อนกลัวกันมากเรื่องการ รับน้องใหม่ เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาปรับปรุงแล้ว ถ้าจะมีการออกกำลังกันบ้างก็เป็นไปในลักษณะ วิทยาศาสตร์การกีฬา การกลิ้งไปกับพื้นถนน หรือคลานคืบหน้าอกไถพื้นจนหนังกำพร้าถลอกไม่มีแล้ว (การฝึกกำลังใจอย่างรุ่นผม พาไปตอนกลางคืนดึกๆ ปล่อยทีละคนให้เดินฝ่าความมืดเข้าไปในโกดังเก็บศพ แล้วให้เซ็นชื่อบนกระดาษวางบนฝาโลงท่ามกลางกลิ่นเหม็นเน่า มีตะเกียงรั้วแสงริบหรี่วางบนโลงศพ ๑ ดวง ไม่ทราบว่ายังมีอยู่หรือเปล่า)
- หลักสูตรการต่อสู้ป้องกันตัวเข้มข้น มือเปล่าสู้กับมือเปล่า มือเปล่าสู้กับอาวุธ ทุกคนต้องผ่าน ต้องสอบ ยูโด เทกวนโด้ มวยไทย
- การใช้อาวุธปืนในลักษณะต่างๆ ทั้งปืนสั้น ปืนยาว
- การขับรถ และความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์
- โดดร่ม (ตามความสมัครใจ คือจะไม่โดดก็ได้)
- การไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในชนบทเพื่อสัมผัสปัญหา
- การฝึกงานตามสถานีตำรวจ
- ฯลฯ
อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องฝากไว้ด้วยก็คือ อุดมการณ์ ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย เป็นผู้จัดระเบียบของสังคม ประชาชนจะอยู่ได้อย่างสงบสุขตำรวจต้องคุ้มครองและให้ความเป็นธรรม ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นตำรวจจะต้องเป็นบุคคลที่มีจิตใจเป็นธรรม รักความยุติธรรม รับฟังเหตุผล ไม่หูเบาหรือเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว ทุกอย่างมีความเป็นไปได้เสมอ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง มีความอ่อนโยน สุภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เห็นแก่อามิจสินจ้าง เป็นที่พึ่งได้ของประชาชน ถ้าผิดไปจากนี้ก็อย่าไปเป็นเลยครับ.