บทความรู้ไว้ไม่ตายโหง
"ประสบการณ์คับด้ามปืน ของยอดนักสืบผู้การเอลวิส"
ตะลุยญี่ปุ่น




ผมไปญี่ปุ่นตอนที่หวัดสายพันธุ์แม็กซิโกระบาด (ระหว่าง ๘ – ๑๙ พ.ค.) แถมยังสวนกระแสเที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก จำเป็นต้องไปเพราะลูกชายต้องไปติดต่อธุรกิจด้วย กลัวตายก็กลัวแต่ถ้าไม่ไปต้องสูญเงินคนละหลายหมื่นบาท ในที่สุดเสียดายเงินมากกว่ากลัวตายเลยต้องไป คราวนี้เดินทางกันเองไม่ต้องพึ่งทัวร์ ทำให้ได้ประสบการณ์หลายอย่างถ้าไปกับทัวร์คงไม่ได้ ผมไปญี่ปุ่นครั้งสุดท้ายเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ภาพที่เห็นวันนี้แตกต่างไปเยอะ นั่นคือเรื่องการจราจร เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่น(โดยเฉพาะโตเกียวซึ่งเป็นเมืองที่ประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก)ไม่มีปัญหาเรื่องรถติด เพราะผู้คนไปใช้รถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน มีหลายสิบเส้นทางเชื่อมต่อกันทั้งเมือง ส่วนถนนก็มีการยกระดับซ้อนขึ้นไปบนอากาศ ๒ ชั้นบ้าง ๓ ชั้นบ้าง ข้ามกันไปข้ามกันมา ไม่มีจุดตัดให้การจราจรต้องชะงักเว้นแต่ในตัวเมือง

สิ่งที่เจริญหูเจริญตาคือความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเอาบ้านเราเป็นตัวเปรียบเทียบ ญี่ปุ่นสะอาดเป็นระเบียบมาก ผู้คนมีวินัย ลงจากเครื่องที่สนามบินนาริตะ สนามบินของเขาสู้สุวรรณภูมิเราไม่ได้ในด้านสถาปัตยกรรมแถมของเรายังมีศูนย์การค้าและภัตตาคารอีกด้วย แต่เรื่องการคมนาคมจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองของเราก็สู้เขาไม่ได้ ญี่ปุ่นมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง (มากกว่า ๑๐๐ กม./ชม) ออกทุกๆ ๑๐ นาที หรือจะเดินทางด้วยรถบัสก็ได้ ผมเลือกรถบัสเพราะสะดวกสบาย มีเจ้าหน้าที่ยกกระเป๋าให้เรียบร้อย ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษโดยรถไม่ได้หยุดที่ใดเลย เส้นทางจากสนามบินเข้าสู่เมืองเป็น Drive Thru คือขับตะลุยแหลก ไม่มีถนนตัดผ่านหรือต้องหยุดรอสัญญาณไฟ สองข้างทางไม่มีเสาไฟฟ้าพาดสายให้ระเกะระกะเพราะเอาลงใต้ดินหมด การขับรถที่นี่เป็นระเบียบรักษาช่องทางเดินรถ ไม่แซงซ้ายแซงขวาเหมือนในกรุงเทพฯ

ผมเข้าพักที่โรงแรมอยู่ใจกลางเมืองชินจูกุซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าการติดต่อธุรกิจของโตเกียว ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ค่าใช้จ่ายสูงกว่าบ้านเรา ๓ เท่าตัว ตัวอย่างน้ำดื่มขวดเล็กๆที่บ้านเราขาย ๘ – ๑๐ บาทที่ญี่ปุ่น ๓๕-๓๘ บาท (อัตรา ๑๐๐ เยนต่อ ๓๒ บาท) โรงแรมห้องค่อนข้างเล็กแต่ที่ผมชอบ คือ โถส้วม มีที่ฉีดล้างก้นปรับน้ำให้อุ่นร้อนเย็นตามต้องการ มีหลายปุ่มให้เลือกจะฉีดล้างก้นเมื่อเสร็จจากการถ่าย หรือสุภาพสตรีจะฉีดล้างเมื่อปัสสาวะเสร็จ ปรับน้ำให้อ่อนแรงได้ ถ้าไม่ตรงจุดก็มีปุ่มเลื่อนปรับให้พอดี ผมจึงชอบตอนเข้าห้องน้ำ เปิดน้ำฉีดก้นเพลินดี

เรื่องเกี่ยวกับห้องน้ำผมมีประสบการณ์อย่างที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ “รู้ไว้ไม่ตายโหง” คือ ผมต้องสำรวจดูช่องเพดานในห้องน้ำซึ่งเป็นช่องที่ช่างขึ้นไปเซอร์วิสระบบท่อต่างๆ ที่บ้านเราเคยมีคดีที่คนร้ายเลื้อยจากห้องข้างเคียง ลงมาทางช่องเพดานเข้าไปขโมยของ หลายคนไปพักโรงแรมตื่นกลางดึกเห็นผี ความจริงไม่ใช่ เป็นคนร้ายเข้าไปขโมยของ ผมสำรวจพบว่าที่ญี่ปุ่นมีสลักเป็นพล๊าสติกแข็งกันคนเปิดช่องนี้จากด้านบนเพดาน (แสดงว่าคงจะเคยมีคดีเกิดขึ้น) เพื่อให้อุ่นใจผมต้องเปิดขึ้นไปดู โรงแรมที่ผมพักรอบคอบมาก ที่ฝาช่องเพดานมีสายไฟฟ้าโยงไว้อีก เป็นการป้องกันถึง ๒ ชั้น ถ้าใครยกฝาช่องนี้ออกต้องมีสัญญาณบอกไปยังห้องควบคุมแน่ ผมมัวแต่ห่วงเรื่องความปลอดภัยจนเกือบจะทำให้เกิดคดีซะเอง ก็ดันไปเหยียบบนฝาปิดชักโครกเพื่อปีนดูช่องเพดาน ตรงนั้นมันเป็นพล๊าสติกอ่อน พอเสียงดังเอี๊ยดผมรีบโดดลงเสียก่อนเลยรอดไป

ช่วงที่ผมเดินทางไปถึงอากาศอยู่ระหว่าง ๒๐ – ๒๘ องศา กำลังพอดี อากาศเย็นทำให้คนที่นั่นแต่งตัวสวยงาม ผู้หญิงแต่งแฟชั่นนำสมัย ผู้ชายสวมเสื้อนอกเกือบทุกคน ผู้ชายญี่ปุ่นจะไม่สวมรองเท้าแตะไม่ว่าจะเป็นแบบคีบหรือแบบสวมออกนอกบ้านเด็ดขาด การเดินทางโดยไม่มีทัวร์นำต้องรู้วิธีเดินทาง ในวันธรรมดาช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น.-๐๙.๐๐ น. อย่าได้ออกเดินทางเด็ดขาด เพราะคลื่นฝูงชนที่ไหลลงใต้ดินเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ผู้คนมากเดินกันขวักไขว่เหมือนมดแตกรัง ผมใช้คำว่าไหลเหมือนสายน้ำเพราะเห็นหัวคนดำพรืดเคลื่อนไปตามบันไดเลื่อนเหมือนน้ำไหล รถไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นมีถึง ๓ ชั้น บนดินหนึ่งชั้น ลงไปใต้ดินอีก ๒ ชั้น ผมต้องรอให้เลย ๐๙.๐๐ น.ไปแล้วรถไฟฟ้าค่อยว่าง ส่วนรถยนต์ไม่ต้องห่วง ถนนว่างตลอดเพราะไม่นิยมใช้รถยนต์

การใช้บันไดเลื่อนต้องระวังให้มาก ต้องยืนชิดข้างใดข้างหนึ่ง บางที่ก็ยืนชิดด้านขวา บางที่ก็ยืนชิดด้านซ้าย บางที่จะทำรูปเท้าไว้ที่พื้นบันไดเลื่อน ต้องยืนบนรูปรองเท้าหรือชิดข้างใดข้างหนึ่งไว้ สังเกตคนที่ยืนข้างหน้าเรายืนข้างไหนเรายืนตาม คนที่รีบเร่งเขาจะวิ่ง แซงขึ้น – แซงลง ทางด้านที่ว่าง ถ้าขืนไปยืนคู่บนบันไดเลื่อนโดนชนล้มแน่นอน เจ็บฟรีแล้วยังอายเขาด้วย ความจริงการใช้บันไดเลื่อนเป็นวัฒนธรรม ในยุโรปหรืออเมริกาหรือประเทศไหนๆก็ปฏิบัติแบบเดียวกัน เว้นแต่ประเทศไทยโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯนิยมยืนคู่แถมคุยเสียงดังอีก

การ ขึ้น– ลง รถไฟ หรือ เข้า– ออก ลิฟต์ ก็ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน ต้องให้คนอยู่ข้างในออกก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไป การยืนคอยต้องยืนต่อคิวกัน ระบบ First Come First Serve “ใครถึงก่อนไปก่อน” แต่ที่กรุงเทพฯดูเหมือนไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ต้องให้รัฐบาลส่งไปดูงานญี่ปุ่น

มารยาทบนรถไฟฟ้ารวมทั้งระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ งดการใช้โทรศัพท์ งดการพูดคุยบนขบวนรถ จะมีป้ายเขียนเตือน ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะปฏิบัติเช่นนี้ มีเหมือนกันที่เปิดโทรศัพท์ระบบสั่นสะเทือนไว้(ปิดเสียง) เมื่อมีโทรศัพท์เข้าก็จะรีบไปพูดนอกตู้โดยสารบริเวณหน้าห้องน้ำ ผมเองก็โดนญี่ปุ่นสอนมวยเหมือนกัน จำไม่ได้แล้วว่าขึ้นรถไฟจากไหนไปไหน รถขบวนนั้นคนนั่งเต็ม ผมกับลูกชายต้องยืน เผลอคุยกับลูกชายโต้ตอบกันไม่ดังนัก ๒ – ๓ ประโยค ผมถูกชายญี่ปุ่นที่นั่งสะกิดแขนแล้วส่งภาษาญี่ปุ่น ผมนึกในใจ “กูฟังภาษามึงไม่รู้เรื่อง” แล้วชาวญี่ปุ่นก็ชี้มือไปที่ป้ายติดข้างรถ ดันเป็นภาษาญี่ปุ่นอีก แต่พอดีบรรทัดล่างๆมีภาษาอังกฤษเขียนบอกว่า “ห้ามพูดคุย ห้ามโทรศัพท์” อ่านป้ายเข้าใจแล้วจึงได้กลับไปดูหน้าญี่ปุ่นคนที่สะกิดผม ปรากฏว่าไอ้หมอนี่มันนั่งหลับ เสียงพูดคุยของผมคงไปกวนให้มันตื่น ผมสงสัยคงจะเป็นพวก Homeless (พวกไม่มีบ้านนอน อาศัยหลับนอนตามรถและที่สาธารณะ)

การใช้รถไฟฟ้าให้สังเกตที่พื้นชานชะลาสำหรับยืนคอยรถ ถ้าทำรูปรถเข็นไว้ที่พื้นนั่นแหละเป็นช่องสำหรับคนพิการรวมทั้งผู้ป่วยเจ็บ คนชรา หญิงมีครรภ์ ผมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยยืนรอตรงช่องนี้ ตู้รถไฟฟ้าที่มาจอดเทียบตรงหน้าจะเป็นที่นั่งสำหรับบุคคลเหล่านี้ บนตู้รถจะมีป้ายบอกว่า “ต้องให้โอกาสบุคคลเหล่านี้ได้นั่งก่อน” แต่บางทีผมผิดหวัง พอขึ้นไปเจอญี่ปุ่นที่ หนุ่ม สาว กว่าแกล้งนั่งทำหลับไม่รู้ไม่ชี้ ผมใช้คำว่า “แกล้ง” เพราะพี่แกรู้ว่ารถวิ่งถึงไหน พอถึงจุดหมายปลายทางแกลงถูกทุกที และที่พื้นชานชะลานี่แหละท่านต้องสังเกตให้ดี บางทีเขาเขียนไว้ที่พื้นเป็นภาษาอังกฤษว่า “สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ” สุภาพบุรุษอย่าได้ขึ้นโดยสารบนตู้นี้เด็ดขาด เดี๋ยวเขาจะหาว่าเป็นพวกโรคจิต ชอบเบียดเสียดสีสะโพกผู้หญิง หรือไม่ก็จะหาว่าท่านเป็นลักเพศ

ผมชอบใจอีกสิ่งหนึ่งคือ ทางสำหรับคนตาบอด ญี่ปุ่นให้ความสำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้พิการที่ใช้รถเข็น โดยบนบาทวิถีจะมีเส้นนูน เป็นเส้น ๆ ประมาณ ๔ ถึง ๖ เส้น กว้างประมาณเกือบฟุต ขนาดเท่าแผ่นอิฐปูพื้นทางเท้าแผ่นหนึ่ง ทำต่อเนื่องยาวไปทั้งเมือง เมื่อไปถึงตำแหน่งที่จะต้องแยกไปซ้ายขวา หรือเปลี่ยนระดับ เช่น ขึ้นบันได ลงบันได ขึ้นรถไฟฟ้า หรือขึ้นรถเมล์ จะเปลี่ยนเป็นจุดกลมแทน เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ใช้ไม้เท้าสัมผัส และจะสามารถร่วมเดินทางไปกับคนตาดีได้ โดยเฉพาะเส้นนูนเหล่านี้จะทำเป็นสีเหลืองเป็นส่วนใหญ่ เอาไว้ให้คนตาดีดู คล้ายกับจะบอกว่า อย่าไปยืนหรือเดินทับเส้นทาง คอยเลี่ยงให้กับผู้พิการด้วย

ถนน และ บาทวิถีที่ญี่ปุ่นราบเรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ทำทางขึ้น–ทางลงให้กับผู้ที่ใช้รถเข็น โดยปาดขอบบาทวิถีจนเกือบจะเรียบถึงพื้นถนน เดินทางครั้งนี้ผมมีหลานอายุ ๒ ขวบครึ่งไปด้วยซึ่งจะต้องนั่งรถเข็นไปตลอด เท่ากับเป็นการทดสอบเส้นทางคนพิการไปด้วย ประเทศนี้คนพิการใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย พอถึงจุดที่จะต้องขึ้นบันไดเขาก็จะทำลิฟต์หรือทางลาดไว้ให้

บนบาทวิถีที่ญี่ปุ่น ไม่มีหาบเร่หรือแผงลอยขายของ หลุมบ่อไม่มี เสาไฟฟ้าสักต้นยังหาไม่เจอ สายไฟฟ้าฝังใต้ดินหมด ไม่มีขยะ ไม่มีเศษกระดาษหรือถุงพล๊าสติกให้เห็นเลย ผ้าพล๊าสติกที่ห้อยหน้าร้านค้าเพื่อกันแดดกันฝนหลากสีอย่างบ้านเราไม่มี อาจจะมีต้นไม้โผล่ขึ้นที่ขอบบาทวิถีบ้างแต่ที่โคนต้นไม้ก็จะมีแผ่นเหล็กฉลุปิดโคนต้นสวยงาม รับรองว่าไม่มีขยะทิ้งที่โคนต้นไม้ ต่างกับที่บ้านเราถ้ามีต้นไม้ที่ไหนจะทิ้งขยะที่โคนต้นไม้ทันที

ญี่ปุ่นจะไม่ตั้งถังขยะที่ริมบาทวิถี การทำเช่นนี้ทำให้ไม่มีขยะทิ้งให้เห็นตามถนน ขยะของใครหรือใครทำให้เกิดขยะขึ้นถือว่าเป็นสมบัติของคนนั้น ต้องเก็บไปทิ้งที่บ้านของตน ญี่ปุ่นห้ามเดินทานอาหาร และ ห้ามทานบนรถสาธารณะเด็ดขาด ถ้าจะทานอาหารต้องทาน ณ จุดขาย เมื่อทานเสร็จก็ทิ้งขยะ ณ จุดขายนั้น ถ้าผิดจากนี้ก็ต้องเก็บขยะไปทิ้งที่บ้านของตน

รถแท็กซี่ในญี่ปุ่นทันสมัยมาก ใช้รถสภาพใหม่ เป็นรถใหญ่ส่วนมากจะเป็นโตโยต้าคราวน์ โดยเฉพาะคราวน์รุ่นใหม่ราคาในเมืองไทยสี่ล้านกว่า ที่ญี่ปุ่นใช้ทำแท็กซี่ ข้างในรถสะอาดส่วนมากจะมีผ้าสีขาวคลุมครึ่งเบาะ คนขับรถแท็กซี่แต่งกายเรียบร้อย สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวชายเสื้อในกางเกง ผูกเน็กไททุกคน ๘๐ เปอร์เซ็นต์สวมเสื้อนอก เหมาะสำหรับเดินทางระยะสั้น ๆ ทุกคันใช้มิเตอร์ ราคาเริ่มแรกจะไม่เท่ากันอาจจะอยู่ที่สภาพรถใหม่เก่า บางคันก็เริ่มที่ ๕๙๐ เยน บางคันเริ่มที่ ๖๔๐ เยน เท่ากับ ๒๐๐.- บาท และ ๒๕๐.- บาท ตัวเลขมิเตอร์จะเปลี่ยนค่อนข้างไว ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตรค่าโดยสารแท็กซี่ประมาณ ๖๕๐.- บาท

สำหรับเรื่องการสูบบุหรี่ที่ญี่ปุ่นเข้มงวด จะสูบได้เฉพาะสถานที่ๆจัดไว้ให้เท่านั้น การเดินสูบบุหรี่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

คนญี่ปุ่นหัวอนุรักษ์ ไม่นิยมพูดภาษาอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่นจึงทำให้การสื่อสารค่อนข้างลำบาก แต่ญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจจะพูดภาษาอังกฤษได้ดี ถึงจะไม่ค่อยเข้าใจภาษาแต่ก็พอสื่อสารได้ เช่น การทานอาหารก็ใช้ชี้เอาตามเมนู ร้านอาหารญี่ปุ่นสมัยใหม่แทบไม่ต้องพูดจากันก็ทานอาหารได้ โดยจะทำตู้ไฟฟ้าติดภาพอาหารบอกราคาหน้าร้าน มีปุ่มให้กด อยากทานอะไรก็หยอดเหรียญตามราคาแล้วกดปุ่มใต้ภาพอาหาร จะมีกระดาษบอกรายละเอียด ถือกระดาษเข้าไปในร้าน เจ้าหน้าที่จะทำอาหารให้ สะดวกสบายทั้งคนซื้อและคนขาย

ที่เล่ามานี้เพื่อจะให้มีการเปรียบเทียบระหว่างประเทศเขาซึ่งเจริญและทันสมัยสุดๆกับประเทศของเรา หลายคนบอกว่าประเทศไทยตามหลัง ๕๐ ปี ผมว่ามันแล้วแต่สภาพทางภูมิศาสตร์และสังคม จะให้เหมือนๆกันเสียหมดถ้าจะลำบากเพราะบ้านเรายังทะเลาะกันไม่จบ ถ้าจะถามผมว่าให้เลือกจะอยู่ประเทศไหน ผมก็ขอบอกว่าขออยู่เมืองไทยเพราะมันถูก เพราะเป็นบ้านเกิด มีความรู้สึกว่ามีส่วนเป็นเจ้าของ และ เรามีสังคมของเรา รอสักวันที่พวกเราเลิกทะเลาะกันและวันนั้นมีผู้นำที่เห็นประโยชน์ประเทศชาติและส่วนรวม ไม่หวังกอบโกย ประเทศไทยต้องเทียบทันชาติที่เจริญแน่นอน.
"คุณอังกูรเล่นหนังด้วยหรอ?"
"โห...ประกบคู่กับพี่เอกสรพงษ์ด้วย"
"คลาสสิคสุดๆ...อยากดูเต็มๆจัง"
และอีกมากมายสำหรับเสียงตอบรับ เนื่องจากล่าสุดทีมงานทำ VDO "เปิดปูมฮีโร่" มาให้ได้ชมกัน วันนี้ทีมงานจีงขอสมนาคุณแฟนๆ ตามเสียงเรียกร้องครับ เราใช้เวลาตามหาภาพยนตร์สุดคลาสสิคเรื่องนี้อยู่นาน ในที่สุดก็ถึงมือแฟนๆ ไปดูกันเลยดีกว่าครับ...

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อชมภาพยนตร์)

ตอน 1ตอน 2ตอน 3
ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 1 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 2 ภาพยนตร์ เรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก ตอน 3
ติดตามกันมานาน
จนเป็นแฟนประจำกันก็มาก...
แต่หลายๆท่านคงยังอยากรู้จักคุณอังกูร (007) ในแง่มุมต่างๆ ให้ลึกลงไป
ถึงเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาเป็นฮีโร่ของเรา
ในวันนี้ เราจึงไม่รอช้าจัดเป็น VDO
ให้ชมกันอย่างจุใจ

(คลิ๊กที่ รูปเพื่อดูวีดีโอ)

พลังสกาล่าร์ ร้องทุกข์ที่นี้
จำนวนผู้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์